สธ. เตรียมตั้งร.พ.เฉพาะกิจรับโควิดทุกจังหวัด

03 เม.ย. 2563 | 11:08 น.

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลศูนย์กลางรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในทุกจังหวัด นำร่องพื้นที่ยอดผู้ป่วยที่ยังเพิ่มสูง พร้อมใช้ราชวิถีโมเดลเป็นต้นแบบ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำนายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ตรวจเยี่ยมห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเอสซีจี เป็นห้องควบคุมความดัน ระบบปิด มีความปลอดภัยในการตรวจเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์และลดความแออัดในการจัดการผู้ป่วย พร้อมเยี่ยมชมระบบบริหารจัดการการรักษาผู้ป่วย COVID-19

 
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายมีตัวเลขที่สูงขึ้น  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถี วางแผนบริหารจัดการโรงพยาบาล และ Hospitel เพื่อดูแลผู้ป่วยทั้งระบบ จากการตรวจเยี่ยมพบว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีจำนวนเตียงในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1,551 เตียง จาก 86 โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มั่นใจว่าเพียงพอรองรับผู้ป่วย อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงแรมเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการเพิ่มอีกกว่า 200 เตียง จากก่อนหน้านี้ที่มีกว่า 400 ห้องพัก ทำให้มั่นใจว่าระบบการบริหารจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


 นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายให้แต่ละจังหวัดจัดตั้งโรงพยาบาลกลางประจำจังหวัดรักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ตามรูปแบบของโรงพยาบาลราชวิถี ดูแลบริหารจัดการทรัพยากรเครือข่ายการรักษาเช่นเดียวกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร เน้นจังหวัดที่มีอัตราผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูง 
 

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้กล่าวยืนยันมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ รวมทั้งการที่รัฐบาลออกประกาศควบคุมเวลาการออกจากเคหะสถานเพื่อหวังลดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ลดการประชุม การห้ามเดินทางเข้าออกในแต่ละจังหวัด ลดจำนวนผู้เดินทางที่มาจากต่างประเทศ ชะลอการเดินทางจากประเทศที่สุ่มเสี่ยงติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งไม่ให้มีการแอบรวมกลุ่มจัดงานเลี้ยงรื่นเริง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อที่อาจทำให้ตัวเลขยังคงเพิ่มสูงขึ้นได้อีก เพราะการพบผู้ป่วยที่ยังคงเพิ่มขึ้นสาเหตุใหญ่ยังมาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งหากเว้นระยะห่างกันได้อย่างเข้มงวด จะช่วยให้การควบคุมการระบาดทำได้ดีขึ้น

 

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รับมอบเงิน จำนวน 60 ล้านบาท จากนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ และครอบครัว บริษัทเมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แห่งละ 10 ล้านบาท โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลราชวิถี แห่งละ 5 ล้านบาท