ย้อนตำนานกู้เงิน แก้วิกฤติเศรษฐกิจ

03 เม.ย. 2563 | 09:27 น.

การออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้นนำมาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น

 

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 จะพบว่ามีการออกพ.ร.ก.กู้เงินและพ.ร.ก.อื่นๆเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วในหลายฉบับ

 

ย้อนตำนานกู้เงิน แก้วิกฤติเศรษฐกิจ

 

เริ่มจากปี 2541 ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง รัฐบาล”ชวน หลีกภัย” ได้ออกพรก.มาแก้ไขปัญหา 3 ฉบับ 

ประกอบด้วย  พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.2541  วงเงินไม่เกิน 2แสนล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการจ้างงานในโครงการมิยาซาวาแพลน 

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2541 

พ.ร.ก.กำหนดแก้ไขเติมพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยพ.ศ.2485 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 พ.ศ.2541 

นอกจากนี้ยังมีการออกพ.ร.บ.บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 

ซึ่งการออกพ.ร.ก.ในสมัยรัฐบาลนายชวนส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของไทย

 

จากนั้นอีก 11 ปีต่อมาในปี 2552 รัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพ.ศ.2552 หรือ โครงการไทยเข้มแข็ง วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท เนื่องจากในช่วงต้นปี 2552 ประเทศไทยประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศจนเกิดเหตุความไม่สงบในเดือนเมษายน 2562

 

ต่อมาอีก 3 ปีในปี 2555 รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ รัฐบาลในขณะนั้นได้ออกพ.ร.ก. 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท  พ.ร.ก.กำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 และพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555

 

นอกจากนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังได้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท แต่ศาลรัฐธรรมนูญนวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงทำให้กฎหมายตกไป

 

ล่าสุดรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"อยู่ระหว่างการพิจารณาออกพ.ร.ก.จำนวน 3 ฉบับ เพื่อใช้ในบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการระเบิดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทั้งหมดจะมีความชัดเจนในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ื 7 เมษายนนี้