จับตา ถกครม.นัดพิเศษ กู้วิกฤติโควิด ลุ้นออกพรก.กู้8แสน-1ล้านล้าน

03 เม.ย. 2563 | 00:50 น.

จับตา "พลเอกประยุทธ์" เรียกประชุมครม.นัดพิเศษวันนี้ กู้วิกฤติโควิด ลุ้นออกพรก.กู้8แสน-1ล้านล้าน -เพิ่มมาตรการเยียวยา ดูแลทุกกลุ่มที่กระทบ

วันนี้ (3เม.ย.63) เวลา 09.00 น.  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ) เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

 

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 63 ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ เรียกประชุมครม.นัดพิเศษนัดนี้เพื่อหารือเร่งด่วนโดยวาระที่จะมีการประชุมและพิจารณา คือ 1. รับฟังข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ สิ่งที่จะออกเป็นมาตรการเยียวยาในระยะ 3 และ 4 สำหรับช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 ต่อไป 2.หารือเรื่องงบประมาณ กรอบวงเงิน จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน รวมทั้ง แหล่งที่มาของเงินจากที่ต่างๆ ทั้งนี้ จะเป็นรูปแบบการประชุมเต็มคณะ โดยไม่ผ่านระบบ Video Conference

รวมทั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพยืและตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)  เพื่อเสนอให้ที่ประชุมครม.นัดพิเศษ หารือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ระยะ 3 จากนั้นนำเสนอ ที่ประชุม ครม.พิจารณารายละเอียดในวันอังคารหน้า เพื่อดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ทั้งกลุ่มภาคเอกชนที่ต้องการความช่วยเหลือ การดูแลภาคเกษตรกร ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ

 

รวมทั้งการดูแลเสถียรภาพตลาดเงิน ตลาดทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งสองตลาด เพราะทั้งสองตลาดเชื่อมโยงกัน เพื่อไม่ให้ภาพรวมเศรษฐกิจมีความเสียหาย ยอมรับว่าต้องใช้เวลาเยียวยาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อทั้ง คลัง ธปท. ก.ล.ต. ต้องหารือแนวทางการใช้เงินจากแหล่งต่างๆ ทั้งการออกเป็น พ.ร.บ. และออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน มาใช้รองรับปัญหาในครั้งนี้  อีกทั้งรัฐบาลต้องเตรียมตัวล่วงหน้ารับมือการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเย็นวันนี้

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.นัดพิเศษ อนุมัติพระราชกำหนดการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 โดยเบื้องต้นกำหนดกรอบวงเงินที่จะนำมาใช้ที่ 8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่ากรอบวงเงินสุดท้ายที่จะเสนอมีจำนวนเท่าไหร่

 

โดยยืนยันว่าการกู้เงินดังกล่าวจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 53 ที่บัญญัติว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ

 

โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทันกฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้นเงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น