ทั่วโลกส่งสัญญาณ เร่งป้องกัน-ยับยั้งโควิด-19

02 เม.ย. 2563 | 10:03 น.

ทั่วโลกส่งสัญญาณ เร่งป้องกัน-ยับยั้งโควิด-19

 

วันที่ 2  เม.ย. 63 พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  ได้ประมวลข้อมูลจากหลายเว็บไซต์เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวการร่วมกันรับมือกับโควิด-19 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

1. เมื่อวันที่ 30 มี.ค.63 ศูนย์คลังสมองจีนและโลกาภิวัตน์ (The Center for China and Globalization : CCG) เป็นหน่วยงานคลังสมองของจีน ที่มิใช่หน่วยงานของรัฐบาล โดยมีที่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ได้ประกาศรายงานเรื่อง "การเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับต่างๆ เพื่อรับมือกับโควิด-19" โดยมีข้อเสนอ10  ข้อในการร่วมกันรับมือกับโควิด-19 จากการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การรักษาห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่อุตสาหกรรม ความปลอดภัยด้านธัญญาหารของโลก ตลอดจนการร่วมกันบุกเบิกยารักษาและวัคซีน เป็นต้น ได้แก่
   

1.1 สนับสนุนเวทีความร่วมมือพหุภาคี ดำเนินกิจการทางการทูตระดับสูงเพื่อรับมือกับโควิด-19 ขยายบทบาทของกลุ่มประเทศ G20 ในความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการรับมือกับโควิด-19และส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
1.2 สนับสนุนให้องค์การอนามัยโลกขยายบทบาทมากขึ้นในความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับโควิด-19 ผลักดันการสร้างกลไกความร่วมมือด้านการบริหารและประสานงานด้านสาธารณสุขโลก
1.3 รักษาความมั่นคงของห่วงโซ่คุณค่า ห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่อุตสาหกรรมของโลกผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างแรงกระตุ้นใหม่ให้กับเศรษฐกิจโลก
1.4 ให้จีนกับสหรัฐฯ เพิ่มการติดต่อ เพื่อบรรลุความรับรู้ร่วมกันด้านการค้าทวิภาคีที่เกี่ยวกับเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการรับมือกับโควิด-19 ของโลก
1.5  สนับสนุนองค์การการค้าโลกเข้ามามีส่วนร่วม ผลักดันความสะดวกการค้าสิ่งของจำเป็นฉุกเฉิน และความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน
   

  ทั่วโลกส่งสัญญาณ เร่งป้องกัน-ยับยั้งโควิด-19

 

1.6 รักษาความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อใช้เป็นกำลังหลักในการรับมือกับโควิด-19ให้ความช่วยเหลือกับประเทศและเขตแคว้นที่มีระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอ
1.7 ส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ แบ่งปันสถิติ และผลการศึกษา สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการคิดค้นยา และวัคซีนที่เกี่ยวข้อง
1.8 ทางการท้องถิ่นและกำลังทางสังคมสามารถให้ความช่วยเหลือและดำเนินการบริจาคในรูปแบบต่างๆ เพื่อรวบรวมกำลังมากขึ้นจากทั่วโลก
 1.9 ประกันความมั่นคงของการค้าผลิตผลการเกษตรทั่วโลก เพิ่มการบริหารด้านความปลอดภัยของธัญญาหารโลกผ่านความร่วมมือพหุภาคีและความร่วมมือระดับภูมิภาค
 1.10 ริเริ่มและส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ เพิ่มความมั่นใจด้านความร่วมมือพหุภาคีระหว่างประเทศ 

 

 

ทั่วโลกส่งสัญญาณ เร่งป้องกัน-ยับยั้งโควิด-19

 

2. ข้อสังเกต ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.63 ได้มีการประชุมสมัยวิสามัญของผู้นำกลุ่มประเทศ G20 เพื่อรับมือกับโควิด-19 (เป็นการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์) โดยส่งสัญญาณเชิงบวกกับประเทศต่างๆ ให้มีความสามัคคีและดำเนินความร่วมมือเพื่อป้องกันและยับยั้งโควิด-19 รวมทั้งดำเนินมาตรการสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและบริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและขนาดย่อม ซึ่งจะมีการเพิ่มเงินทุนจำนวน 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้เศรษฐกิจโลก เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเงิน จากการระบาดของโรคในครั้งนี้ 

 

ในขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้มีข้อเสนอต่อที่ประชุมฯ ว่า ต้องรวบรวมพลังของประเทศต่างๆ ดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งการศึกษาวิจัยเวชภัณฑ์ วัคซีน และชุดตรวจโควิด- 19ซึ่งต้องใช้ความพยายามร่วมกันในเชิงรุกเพื่อผลสำเร็จและสร้างความผาสุกแก่มวลมนุษยชาติ

 

บทสรุป ข้อเสนอในการร่วมกันรับมือกับโควิด-19ของศูนย์คลังสมองจีนและโลกาภิวัตน์ (CCG) ดังกล่าว จึงสอดคล้องรองรับกับแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่ได้เรียกร้องให้จัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในช่วงที่จำเป็น เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละประเทศ และดำเนินการปฏิบัติอย่างเร่งด่วนในการต่อต้านการระบาดครั้งนี้ 

 

รวมทั้งลดผลกระทบของการแพร่ระบาดที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะการประกันการนำเข้า-ส่งออกเวชภัณฑ์สำคัญ สินค้าการเกษตรที่สำคัญ สินค้าประเภทอื่นๆ  ตลอดจนการบริการให้ดำเนินไปอย่างปกติ เพื่อแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ด้วยการทุ่มเทกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างสุดกำลัง อันเป็นการเพิ่มความมั่นใจด้านความร่วมมือพหุภาคีระหว่างประเทศ ซึ่งจะสนับสนุนการริเริ่มและส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ