“กรณ์”ชี้มี24ล้านคนควรได้รับเยียวยา5พันบาท

30 มี.ค. 2563 | 15:32 น.

“กรณ์”ประเมินมาตรการเยียวยา 5 พันบาท แก่ผู้ได้รับผลกระทบโควิด มีผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือราว 24 ล้านคน จาก 3 กลุ่ม วงเงินที่ต้องใช้เดือนละ  120,000 ล้านบาท 3 เดือนตก 360,000 ล้านบาท


นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กถึงมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการ หรือผู้ได้รับผลกระทบ ของการแพร่ระบาดจากไวรัส COVID-19 ของรัฐบาล ในหัวข้อ “5,000 บาท สำหรับ 24 ล้านคน” ระบุว่า 

เมื่อมีผู้ขึ้นทะเบียนเงิน 5,000 บาท ทะลุ 20 ล้านคนแล้ว จะทำอย่างไร? 

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า “ไม่เกินความคาดหมาย” เพราะคนที่เดือดร้อนมีมากกว่า 3 ล้านคนแน่นอน และถึงแม้อาจจะมีคนที่ไม่ควรมีสิทธิแฝงเข้ามาบ้าง แต่ในการประเมินของ “กล้า” เราคิดว่าผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลืออยู่ที่ประมาณ 24 ล้านคน

 

24 ล้านคนมาจากไหน!?

คำตอบคือ…

1.ผู้มี "อาชีพอิสระ" 12 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ (สมาชิกประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 จำนวน 5 ล้านคน และอิสระอื่นๆ 7 ล้านคน) พ่อค้าแม่ขายรายเล็ก หาบเร่แผงลอย เจ้าของธุรกิจ SME ขนาดเล็ก-กลาง ที่ลำบากหมุนเงินไม่ไหว 

2. “เกษตรกร” 4 ล้านคนที่ไม่อยู่ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ผู้ผลิตอาหาร ข้าว พืช ผัก ผลไม้เข้าเมือง และส่งออก จ่อด้วยภาวะภัยแล้งที่กำลังจะโถมเข้ามาซ้ำเติม

3. “ลูกจ้างรายได้น้อย” หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ชำระภาษีเงินได้ 8 ล้านคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เดือดร้อนหนักมากตอนนี้ 


รวมสามกลุ่มนี้ 24 ล้านคน เป็นกลุ่มที่ยากลำบากได้รับผลกระทบจากโควิดแต่แรก และวันนี้หากินไม่ได้ มีรายได้ลดลงจากเดิม ทั้งที่รายได้เดิมก็ไม่เยอะอยู่แล้ว ถือเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องช่วยเหลือเร่งด่วน รอช้ากว่านี้จะยิ่งเจ็บลึกครับ 

 

 

วงเงินที่ต้องใช้ทั้งหมดคือ 120,000 ล้านบาทต่อเดือน หากคำนวณสามเดือนคือ 360,000 ล้าน หรือประมาณ 2.1% ของ GDP 

หลายประเทศเขามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 10%+ ของ GDP ทั้งๆ ที่หนี้สาธารณะของเขามีสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงกว่าเรามาก 

ส่วนเงินนั้นเราจะหามาจากไหน?
 

คำตอบคือ ได้ จาก 3 ส่วนหลักดังนี้

1.ปรับโอนงบประมาณปี 63 ไม่ใช่แค่ขอให้ลดแล้วช่วยแบ่งมา ต้องออกกฎหมายเร่งด่วนให้ชัดเจน

2.ออกพ.ร.ก.เงินกู้ ในกรณีที่จะต้องมีแผนชัดว่าจะช่วยเหลือแบบไหน อย่างไร 

3.ปรับพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 ที่ครม.อนุมัติขั้นต้นไปเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา (สามารถใช้ได้ต้นเดือนตุลาคม) ให้ตอบสนองต่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด

ทีมกล้าคิดไปถึงกรณีว่า ...รัฐบาลควรเพิ่ม "เบี้ยยังชีพ" ให้แก่กลุ่มที่อ่อนแอที่สุดในสังคม อย่างเช่น 1-ผู้สูงอายุ 2-แม่ลูกอ่อน และ 3-คนพิการด้วย เพราะกลุ่มนี้ปกติต้องพึ่งพาเงินสมทบจากสมาชิกในครอบครัวที่ทำมาหากิน ตอนนี้คนวัยทำงานหาเลี้ยงครอบครัวลำบากกันหมด คนกลุ่มนี้จึงยิ่งต้องได้รับการดูแลที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน