บทเรียนจากไวรัส“โคโรนา” กับ ความร่วมมือของมนุษยชาติ

10 มี.ค. 2563 | 08:14 น.

 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

 

วันที่ 10 มี.ค 63 พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เสนอข้อมูลกรณีสำนักงานกลไกร่วมกันป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของคณะรัฐมนตรีจีน จัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มี.ค.63ณ กรุงปักกิ่ง ว่า จีนสามารถตรวจวินิจฉัยโรค รักษาผู้ป่วยให้หายดีและป้องกันโรคระบาดได้แล้ว โดยผลสำเร็จของจีนในการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19จะเป็นประสบการณ์ที่น่าศึกษาเรียนรู้สำหรับทั่วโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

1. ในการแถลงข่าวโดยสำนักงานกลไกร่วมกันป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19ของคณะรัฐมนตรีจีนดังกล่าวนั้น ได้ระบุว่า จีนจะเริ่มทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ภายในเดือน เม.ย.63 นี้ โดยจีนได้ส่งมอบรีเอเจนต์ทดสอบการติดเชื้อแก่ปากีสถาน  ญี่ปุ่น และสหภาพแอฟริกา อีกทั้งยังได้แบ่งปันแผนการรักษาโรคแก่ประชาคมโลกด้วย ในขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน ได้กล่าวยืนยันในเรื่องนี้ว่า จีนยินดีแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยยารักษาโรค วัคซีน และรีเอเจนต์ทดสอบการติดเชื้อ

 

 

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส

2. ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 5มี.ค.63 นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ณ นครเจนีวา ว่า มาตรการที่จีนใช้นั้นแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในด้านนโยบาย ที่สามารถระดมกำลังประชาชนทั่วประเทศ โดยผลสำเร็จในการป้องกันการระบาดของจีนจะเป็นประสบการณ์ที่น่าศึกษาเรียนรู้สำหรับทั่วโลก กล่าวคือ 


     2.1 หากผู้นำประเทศและผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลประสานงานกับหน่วยงานทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้มาตรการป้องกันประสบความสำเร็จ โดยเมื่อเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง จะเห็นมาตรการที่จีนดำเนินอยู่ โดยมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้บัญชาการใหญ่ในงานป้องกันการระบาด


     2.2 มาตรการที่ดำเนินการเป็นมาตรการที่ถูกต้อง และสามารถยกระดับกำลังของทั้งรัฐบาลและสังคม ทำให้ชาวจีนทุกคนล้วนมีความคิดว่า การรับมือกับโรคระบาดเป็นหน้าที่ของทุกคน  ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ ก็จะสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสด้วยความสำเร็จ

 

  บทเรียนจากไวรัส“โคโรนา” กับ ความร่วมมือของมนุษยชาติ

 

3. ข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทของจีน ที่แสดงท่าทีเปิดเผย โปร่งใส และให้ความร่วมมืออย่างดีนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจีนได้ตรวจและยืนยันเชื้อไวรัสด้วยเวลารวดเร็ว พร้อมทั้งแบ่งปันข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของเชื้อไวรัสให้กับฝ่ายต่างๆ ขณะเดียวกัน จีนยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกมาตรวจสอบสภาพการณ์ที่จีน เพื่อรับรู้ถึงการดำเนินงานป้องกันการแพร่ระบาดที่แท้จริงของจีนในทุกด้าน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือของจีนต่อประเทศที่มีการแพร่ระบาดเชื้อรุนแรงแต่ไม่มีความสามารถที่เพียงพอทางการแพทย์ กล่าวคือ 


     3.1 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นถึงหลักแนวคิดของจีนเกี่ยวกับ “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” ที่ได้เคยนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.58ซึ่งนับวันจะเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ มากขึ้น และได้รับการระบุไว้ในมติที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ รวมทั้งได้เคยนำเสนอต่อที่ประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 17ม.ค.60  โดยในกรณีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยทางชีวิตและสุขภาพร่างกายของประชาชนประเทศจีน และกิจการสาธารณะสุขโลก โดยจีนจะปฏิบัติตามหลักแห่งความโปร่งใสต่อไป รวมทั้งดำเนินความร่วมมือกับทุกประเทศทั่วโลก ภายใต้การสนับสนุนและการช่วยเหลือที่เป็นมิตรจากทั่วโลก อันจะทำให้จีนสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน


     3.2 รูปธรรมของความร่วมมือของจีนที่มีต่อประเทศต่างๆ ภายใต้แนวคิด “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” โดยรัฐบาลจีนตกลงที่จะบริจาคเงินจำนวน 20ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสนับสนุนด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ทั้งนี้ จีนเห็นว่าการแพร่ระบาดของไวรัสไม่มีขอบเขต ไม่จำกัดประเทศ การช่วยคนอื่น ก็คือช่วยตนเอง โดยจีนจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ร่วมต่อสู้ อันแสดงบทบาทของจีนเพื่อรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของภูมิภาคและทั่วโลก ผลักดันการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

 

  บทเรียนจากไวรัส“โคโรนา” กับ ความร่วมมือของมนุษยชาติ

 

บทสรุป อาจกล่าวได้ว่า การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน จะเป็นทิศทางที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าและการพัฒนาของสังคมมนุษย์ ดังกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้การกระตุ้นเตือนให้เห็นว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ ชะตากรรมของประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงและต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยจีนได้มีการติดต่อกับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO อย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินการป้องกันและควมคุมโรคข้ามประเทศ เช่น การแบ่งปันข้อมูลของการแพร่ระบาด วิธีป้องกันและผลการวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและผลิตยาต้านไวรัสโควิด-19 และวัคซีน เป็นต้น และผลสำเร็จของจีนในการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นประสบการณ์ที่น่าศึกษาเรียนรู้สำหรับทั่วโลก