สธ.แนะเลี่ยงชุมนุม ลดเสี่ยงติดเชื้อ

22 ก.พ. 2563 | 10:32 น.

สธ.เผยอีเวนต์คนรวมตัวเสี่ยงเชื้อแพร่มากขึ้น เข้มบุรีรัมย์จัดโมโตจีพีต้องร่วมป้องกันทั้งจังหวัด แนะชุมนุมทางการเมืองขอให้ชะลอ ทางการแพทย์ถือว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563ในการแถลงข่าวสถานการณืโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการจัดงานโมโตจีพีที่จ.บุรีรัมย์ และการชุมนุมทางการเมือง จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือไม่และมีคำแนะนำอย่างไร นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ทั้ง 2 เรื่องเป็นลักษณะเดียวกัน คือ การรวมตัวกันของคนจำนวนมาก มีความเสี่ยงอย่างชัดเจน แต่ความเสี่ยงที่สูงไม่สำคัญเท่ากับว่าจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้หรือไม่ เช่น แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยในห้องความดันลบทุกวัน แต่ไม่ติดเชื้อเพราะสามารถจัดการความเสี่ยงได้ ดังนั้นหากการรวมตัวกันไม่มีผู้ป่วยเข้าไปร่วมเลย ความเสี่ยงจะเป็นศูนย์และไม่มีการแพร่เชื้อเลย แต่หากจำเป็นต้องจัดต่อไป สิ่งที่ต้องทำคือ 1.ผู้ที่มีการคล้ายจะเป็นไข้หวัด ทั้งอาการเบาและหนัก ห้ามออกไปร่วมงาน 2.ผู้จัดงานต้องคัดกรองผู้ที่มีไข้ ไอ เจ็บคอ ออกจากงาน

“ในส่วนงานโมโตจีพีมีความซับซ้อน เนื่องจากผู้ร่วมงานจะมีการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวทั้งก่อนและหลังวันจัดงานด้วย ดังนั้น ทุกภาคส่วนในชุมชนจะต้องช่วยกันสอดส่อง ว่าพบผู้ที่มีอาการป่วยหรือไม่ หากบพคนป่วยแนะนำให้รีบเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล เมื่อถึงโรงพยาบาลต้องซักประวัติ ถ้าสงสัยติดเชื้อโคโรน่า2019 ให้ส่งตรวจยืนยันทันที และทุกภาคส่วนจะต้องมีการแจกหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะหน้ากากผ้า มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ในการล้างมืออย่างเพียงพอ”นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว

 

แถลงข่าวสถานการณืโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

 

นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนในกรณีการออกมาชุมนุมทางการเมืองคงเป็นหลักการเดียวกัน ถ้าจำเป็นจริงๆจะต้องมารวมตัวกันด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ คือ ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ อย่าเพิ่งไปรวมตัวกัน เพราะอาจจะนำโรคไปให้กับคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก และคนจัดกิจกรรม ก็ควรจะคำนึงถึงสุขภาพของคนอื่นด้วย ต้องมีความรับผิดชอบต่อคนที่ชักชวนมาร่วม จะต้องมีการคัดกรองไข้ ต้องเตรียมหน้ากากผ้าให้เพียงพอ ต้องเตรียมเจลแอลกอฮอล์สำหรับทุกคนที่มาร่วมงานในการที่จะให้ล้างมือบ่อยๆ และป้องกันการแพร่เชื้อทุกทาง รวมถึง การแจกจ่ายอาหารเครื่องดื่ม ก็จะต้องเป็นอาหารร้อน โดยเฉพาะในส่วนผู้ที่แจกจ่าย หากเป็นผู้ติดเชื้อแล้วไปจับแก้ว ก็อาจจะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้เช่นกัน

“หากไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงก็อย่าจัด มันไม่ใช่เวลาที่เหมาะและจะเป็นการสนับสนุนไวรัสให้มันแพร่เชื้อได้โดยง่าย คิดว่ามีหลายวิธีที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยหรือความไม่พอใจทางอื่น ถ้าสามารถทำทางอื่นได้แนะนำให้ทำทางอื่น พราะในมุมมองของการแพทย์และการสาธารณสุขช่วงเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ถ้าสุขภาพของผู้คนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ก็แนะนำว่ากิจกรรมบางอย่างสามารถชะลอได้ก็ชะลอไปก่อน”นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว