ย้อนคำวินิจฉัย "ประเสริฐ นาสกุล” เทียบอนาคต“ธนาธร”ซ้ำรอย“ทักษิณ ชินวัตร”?

21 ก.พ. 2563 | 00:58 น.

ย้อนคำวินิจฉัย "ประเสริฐ นาสกุล” ตุลาการเสียงข้างน้อยคดีซุกหุ้น สุดท้ายแล้วเส้นทางการเมืองของ“ธนาธร”จะไม่ไปซ้ำรอย“ทักษิณ ชินวัตร”ที่ลงเอยด้วยการหนีออกนอกประเทศไป

เมื่อได้เห็นเส้นทางการเมืองของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งกวาดคะแนนเสียงกว่า 6.2 ล้านคะแนนมาได้อย่างท่วมท้นจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กำลังไต่อยู่บนเส้นด้ายจาก “คดีเงินกู้ 191 ล้านบาท” ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ (21 กุมภาพันธ์) ทำให้คอการเมืองหวนคิดถึง “คดีซุกหุ้นภาค 1” ของ นายทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เจ้าของวลี “บกพร่องโดยสุจริต” เมื่อปี 2544 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เขาชนะคดีนี้ด้วยมติฉิวเฉียด 8 ต่อ 7 เสียง

ถ้าพลิกไปดูคำวินิจฉัยส่วนตัวของ “นายประเสริฐ นาสกุล” อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ล่วงลับ ในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อยในการวินิจฉัยคดีที่หลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว พบว่า มีหลายประเด็นที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังแหลมคมอยู่ในขณะนี้

ประเด็นแรก คือ มุมมองของตุลาการท่านนี้ที่มองการก้าวเข้าสู่ถนนการเมืองของนักธุรกิจที่มองเรื่องการพัฒนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยลอกเลียนความรู้จากกฎหมายของต่างประเทศในระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ใช้สติและปัญญานำวิธีปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม ใช้วิธีการป้องกันการเอาเปรียบ การเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ มาใช้ด้วย เอาความสะดวกสบายโดยไม่รู้จักคิด ปล่อยหรือยอมให้ผู้อื่นคิดแทน

 

โดยไม่มีการพิจารณาว่า ระบบดังกล่าวสอดคล้องกับศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยหรือไม่ เพราะผู้นำเขามุ่งแต่การมีระเบียบ แบบแผน กฎหมาย และหวังในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขาดประสบการณ์ ไม่ทราบหรือคิดมาก่อนว่า ความรู้ที่นำมานั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเตรียมการป้องกันไว้ด้วยเช่น การประกอบธุรกิจแบบครอบครัวได้พัฒนาเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทเอกชน บริษัทมหาชน และกลุ่มบริษัท โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมเงินทุน และต่อไปจะมีตลาดกลางสินค้าเกษตรล่วงหน้า

ขณะเดียวกันก็มีผู้คิดหาช่องทางต่างๆของกฎหมาย เช่น การค้าเสรี เปิดโอกาสให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอา โดยใช้ความได้เปรียบในฐานะทางเศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่ และการศึกษา การเอาประโยชน์โดยใช้ผู้ใกล้ชิดให้มีจำนวนเพียงพอที่จะก่อตั้งบริษัทแล้วโอนลอยหุ้น การใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน การปล่อยเงินกู้เฉพาะแก่คนรู้จัก การโอนถ่ายกำไรระหว่างบริษัท การใช้ข้อมูลภายในของบริษัท และกลุ่มบริษัทเพื่อขายกิจการ และการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม

ซึ่งผู้ถูกร้อง คือ นายทักษิณ ชินวัตร จะทราบความจริงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจและชัดถ้อยชัดคำว่า การที่ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จจนมีบริษัทในเครือและทรัพย์สินมากมาย โอนลอยหุ้นและใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทนนั้น “เป็นการประกอบธุรกิจตามธรรมดาที่ใครๆก็ทำกันอย่างนั้น” ทั้งๆที่การทำธุรกิจในระบบนายทุนของต่างประเทศเป็นการกระทำมุ่งแสวงหากำไร เป็นความโลภ และความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

นอกจากนี้ผู้ถูกร้องอ้างว่า เลิกกระทำธุรกิจหันมาทำงานการเมืองแล้วตั้งแต่ปี 2537 และมอบการบริหารธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้แก่คู่สมรส (ในกรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 110 (2) บุตรและเครือญาติดำเนินการต่อไป (แทนที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 โอนหุ้นให้นิติบุคคล ซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การให้ทรัสต์จัดการทรัพย์สิน ในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นความคิดก้าวหน้าสำหรับประเทศไทย)

คำวินิจฉัยส่วนตนของนายประเสริฐ ยังวิเคราะห์กรณีที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า ผู้ถูกร้องเข้าใจผิดว่า จำนวนประชาชนที่ออกเสียงเลือกผู้ถูกร้องในการเลือกตั้งทั่วไปเพราะผู้ถูกร้องเสนอโครงการต่างๆเป็นที่ถูกใจได้นั้นมากมายมหาศาล แต่จำนวนประชาชนดังกล่าวมิได้มากกว่าจำนวนคนที่ทราบว่า ผู้ถูกร้องและคู่สมรสมีทรัพย์สินและหนี้สินจริงในวันยื่นบัญชีฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรคสองเพราะประชาชนกว่า 11 ล้านคนนั้นไม่ทราบจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินจริงของผู้ถูกร้องและคู่สมรส ดีไปกว่าเลขานุการส่วนตัวเพียง 2 คนของผู้ถูกร้องและคู่สมรสเพราะเป็นคนละเรื่องกัน

การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผลของอดีตยังคงคิดและทำเหมือนเดิม เหมือนนักธุรกิจคนอื่นๆในระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่ยังคงเข้าใจผิดคิดว่า แนวความคิดที่จะบริหารประเทศของผู้ถูกร้องเป็น “การคิดใหม่และทำใหม่” ไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ ซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วย “เงิน” อย่างเดียว

ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่า ผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินมีทองมากมาย ไม่ทุจริตผิดกฎหมาย และไม่อำพรางแล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมืองโดยการโอนการจัดการธุรกิจให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้องรู้ปัญหาของบ้านเมืองดีจึงอาสาเข้ามาแก้ไข แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้องภายในระยะเวลาอันสั้นนั้นกระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร

ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการคิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมใจกันแก้ไข ด้วยการลด ละ และเลิก “ความเห็นแก่ตัว” เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มากและรวดเร็วเท่าใด จะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติสู่ความเป็นปกติรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่าหมดหวังเพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้

ในคำวินิจฉัยฉบับนี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีข่าวที่ค่อยๆเบี่ยงเบนประเด็นที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาทีละน้อยๆและเป็นระยะๆว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจจนร่ำรวยด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่มีการทุจริต ผิดกฎหมาย ผู้ถูกร้องเป็นคนแรกที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ

ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ถูกร้องสมัครใจยื่นรายการทรัพย์ สินและหนี้สินเพิ่มเติมเอง หากศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องกระทำผิดก็เป็นการทำผิดโดยสุจริต ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ชะลอการตัดสินคดี หรือยกโทษให้ผู้ถูกร้อง ไม่ควรลงโทษผู้ถูกร้องซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนกว่า 10 ล้านคน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีใครดีกว่าผู้ถูกร้อง ประเทศไทยขาดผู้ถูกร้องไม่ได้ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ศาลกระทำได้

และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมิใช่เป็น การแสดง “ความเห็นแก่ตัว” ของคน

ถึงตรงนี้คงจะพอเห็นภาพกันแล้วว่า การเข้าสู่การเมืองของนักธุรกิจคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อย่าอาศัยความนิยมมาเป็นตัวกำหนดชะตากรรมบ้านเมือง เพราะท่าทีและการกระทำของนายธนาธร และเหล่าพลพรรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ต่างกัน  

เพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit –ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในหัวข้อ คำชี้แจงจากใจ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งปรากฏใจความอย่างมีนัยหลายช่วงหลายตอนด้วยกัน

“...กรณีการยุบพรรคที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ต้นเหตุ คือ มีผู้นำคำที่ผมอภิปรายสาธารณะที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ว่า ผมให้เงินพรรคกู้ แล้วไปฟ้องกับ กกต.ว่า เงินกู้นั้นเป็นนิติกรรมอำพราง แท้จริงแล้วเป็นเงินบริจาค ซึ่งผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ..

..ถ้าเราทำแบบปกปิดมุบมิบ ผู้ร้องไปหาเจอเอาเอง และนำไปสู่การร้องกับ กกต. อาจจะอนุมานได้ว่านี่เป็นนิติกรรมอำพรางจริง แต่ผู้ร้องเอาคำอภิปรายของผมที่กระทำในที่เปิดเผย ย่อมแสดงให้ว่าธุรกรรมนี้เป็นไปโดยเจตารมย์ อย่างตรงไปตรงมา เปี่ยมไปด้วยความซื่อสัตย์ ความโปร่งใส และพร้อมเปิดเผย อีกทั้งการที่ผมพูดถึงเรื่องเงินกู้ ความสำคัญของการระดมทุน ในหลายที่หลายโอกาสอย่างสม่ำเสมอ

ผมมักพูดเสมอว่า ผมเป็นลูกจ้างของสมาชิกพรรค ค่าสมาชิกพรรคคือเงินเดือนของพนักงาน เงินทำพรรค หน้าที่ของผมคือการรับใช้สมาชิกด้วยการทำนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคให้เป็นจริง ผมจึงชักชวนมาโดยตลอดให้พี่น้องประชาชนที่สนับสนุนเรา ลงทุนด้วยกัน เป็นเจ้าของด้วยกัน ช่วยกันสมัครเป็นสมาชิกพรรค, ช่วยกันบริจาค และช่วยกันอุดหนุนซื้อสินค้าพรรค เพื่อเป็นทุนในการสร้างพรรคและคืนเงินกู้หัวหน้าพรรค

หลักฐานการให้ความสำคัญกับการระดมทุนเป็นที่ประจักษ์มากมาย ทั้งภาพการจัดกิจกรรมและภาพวิดีโอว่าพรรคนี้ เราจริงจังกับการระดมทุนจากสาธารณะ เราปฏิเสธเงินก้อนใหญ่จากทุนผูกขาดที่มาจากเลือดเนื้อประชาชนเพราะขัดต่อแนวอุดมการณ์ของพรรค โดยที่เราไม่ต้องการตอบแทนกลุ่มทุนเหล่านี้ หากวันใดเมื่อเรามีอำนาจทางการเมือง เราจะได้เป็นตัวของตัวเองที่สุด

...รอบปีที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่จริงจังที่สุดในการจัดกิจกรรมเพื่อการระดมทุน ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่เราได้รับการรับรองพรรคตามกฎหมายวันแรกในเดือนตุลาคมปี 2561 จนถึงสิ้นปี 2562 เราได้เงินจากค่าสมาชิก บริจาค และระดมทุนเป็นจำนวน 70+138 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับพรรคการเมืองเกิดใหม่ที่ระดมทุนจากประชาชน โดยยอดทั้งหมดนี้พรรคจะต้องส่งให้กกต.ซึ่งน่าจะเป็นตัวยืนยันคำกล่าวของผมได้ดีที่สุด

แต่เหตุใดที่การกระทำแบบนี้กลับกลายเป็นดาบหอกทิ่มเราเสียเอง ทำให้เราต้องเผชิญกับความเสี่ยงยุบพรร8, ตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร และติดคุกติดตารางเพราะความต้องการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ที่ซื่อสัตย์, เจตนาดีและโปร่งใสอย่างนี้หรือ ?

เรากลายเหมือนผู้ร้าย ไม่รอบคอบ และตั้งใจบิดเบือนกฎหมาย เราไม่ได้รับแม้แต่สิทธิในการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง และสิทธิในการสู้คดีอย่างที่พลเมืองในสังคมที่มีนิติรัฐ นิติธรรมควรจะได้รับ

ผมฝากทุกท่านที่สนับสนุนพวกเรา ช่วยกันกดชื่นชม ช่วยกันกดแบ่งปันข้อความนี้ของผม ช่วยกันอธิบายถึงความตั้งใจของพวกเรา ช่วยกันอธิบายถึงความไม่ถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการทางกฎหมาย ให้คนที่ยังคลางแคลงสงสัยให้เข้าใจด้วยครับ

พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงผ่านสภาผู้แทนราษฎร และเราได้ทำให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพและความเป็นมืออาชีพของเราใน 7 เดือนของสภาสมัยนี้แล้ว เราทำงานการเมืองที่สร้างสรรค์เพื่อต้องการดึงความเชื่อมั่นของผู้คนให้กลับมาศรัทธาในระบบรัฐสภาของประเทศไทยอีกครั้ง

ผมได้แสดงความจริงใจถึงเหตุผลที่ผมและกรรมการบริหารให้พรรคกู้เงินอย่างครบถ้วนในที่นี้แล้ว ซึ่งหากผู้อ่านไม่มีอคติจนเกินไป ท่านจะเห็นว่าไม่มีเหตุผลในด้านเจตนาอันใดเลยในการที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ได้ อีกทั้งหากพิจารณาถึงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ก็ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะทำให้พรรคถูกยุบได้เช่นกัน

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดีเงินกู้ ขอผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความอยุติธรรมนี้ มาร่วมฟังคำวินิจฉัยและแสดงพลัง ที่สำนักงานใหญ่พรรคอนาคตใหม่ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป..”

อนาคตอันใกล้ของ นายธนาธร กรรมการบริหารพรรค และพรรคอนาคตใหม่ จะได้ไปต่อหรือไม่อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าได้รู้กัน หวังว่า สุดท้ายแล้วเส้นทางการเมืองของ“ธนาธร”จะไม่ไปซ้ำรอย“ทักษิณ”ที่ลงเอยด้วยการหนีออกนอกประเทศไป