เปิดละเอียดยิบคำพิพากษาสั่งจำคุก“ก๊วนเงินทอนวัด”ทั้ง5ราย

19 กุมภาพันธ์ 2563

เปิดละเอียดยิบ...คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก “ก๊วนเงินทอนวัด” 5 ราย “พระพรหมสิทธิฯ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เจอคุก 36 เดือน แต่เคยสร้างคุณประโยชน์คณะสงฆ์-สถาบันการศึกษาต่อเนื่อง ไม่เคยทุจริต ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ส่วน “พนม-คณะบริหาร พศ.” ไม่รอด เจอคุกถ้วนหน้า 

 

วันนี้(19 ก.พ.63) ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี  ศาลอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) คดีหมายเลขดำ อท.251/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 2  เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพนม ศรศิลป์ อายุ 60 ปี อดีตผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) , นายชยพล พงษ์สีดา อายุ 64 ปี อดีตรอง ผอ.สำนักงาน พศ. , นายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา , นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อายุ 50 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา , พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข หรือนายธงชัย สุขโข อายุ 64 ปี อดีตพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร , อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นจำเลยที่ 1-5 


ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ , ทำ , จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต , เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157 ประกอบมาตรา 83,86,91


โดยคดีนี้ อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.61 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.58 - 22 ก.ค.59 พวกจำเลย ได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณ ของสำนักงาน พศ.ประจำปี 2559 จำนวน 69,700,000 บาท (จากวงเงินงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 5,360,188,000 บาท) ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้ 'วัด' เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงิน ด้วยการให้ 'วัด' โดยเจ้าอาวาส เสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนที่เบียดบังมา จากที่ได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนในโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม จำนวน 37,200,000 บาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ซึ่งวัดสระเกศฯ ได้รับอนุมัติเงินไปเพียงวัดเดียว 


โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.61 "พ.ต.ท.พงศพร พราหมณ์เสน่ห์" ผอ.สำนักงาน พศ.ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามกฎหมาย ซึ่งมีคำขอท้ายฟ้อง ขอศาลให้มีคำสั่งจำเลยที่ 1-5 ร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 69,700,000 บาท คืนแก่สำนักงาน พศ. ผู้เสียหาย พร้อมขอให้ศาลนับโทษจำคุก "นายพนม" อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 กับคดีหมายเลขดำ อท. 253/2561 , อท.254/2561 (ร่วมทุจริตการจัดสรรเงินงบ พศ.) ของศาลนี้ และ พระพรหมสิทธิฯ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 กับคดีหมายเลขดำ อท.197/2561 (ร่วมฟอกเงิน) ของศาลนี้ด้วย


ขณะที่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ "นายพนม" อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งได้ถูกดำเนินคดีหลายสำนวนในศาลนี้ ส่วน พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ นั้นก็เพิ่งได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 15 ส.ค.62 โดยศาลตีราคาหลักประกัน 2.5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 1 เดือนไปจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาและห้ามเดินทางอกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก


โดยวันนี้ พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 สวมชุดขาวมาศาลพร้อมคณะลูกศิษย์ ส่วนจำเลยที่ 1- 4 นั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำวันนี้ศาลได้เบิกตัวทั้งหมดมาพร้อมฟังคำพิพากษา

ขณะที่ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารงานและดำเนินการตามภารกิจของสำนักงาน พศ. และมีอำนาจอนุมัติโครงการ แผนงานต่างๆ ตามการจัดสรรงบประมาณ และตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ ในช่วงเกิดเหตุปี 2558-2559 ได้อนุมัติเงินอุดหนุนใน 2 โครงการ คือโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 37 ล้านบาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ให้กับศูนย์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศฯ ที่มีจำเลยที่ 5 เป็นประธาน ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ต่อสู้ว่าไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย กรณีที่กล่าวหาก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าอาวาสวัด แต่เป็นประธานศูนย์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 5 จะอ้างว่ากรณีที่ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าอาวาส แต่ในเอกสารที่ลงชื่อก็กำกับท้ายเจ้าอาวาส ขณะที่ศูนย์สำนักงานส่งเสริมฯ ก็อยู่ในความดูแลของวัดสระเกศฯ ที่จำเลยที่ 5 มีอำนาจบริหารจัดการดูแลภายในวัด ส่วนที่โจทก์ฟ้องก็ฟ้องจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5

                                                                  เปิดละเอียดยิบคำพิพากษาสั่งจำคุก“ก๊วนเงินทอนวัด”ทั้ง5ราย

 

โดยการอนุมัติจัดสรรงบประมาณโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 37 ล้านบาทนั้น ได้โอนเงินให้กับวัดสระเกศฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็มีหนังสือแจ้งกลับจำเลยที่ 1-4 ที่เป็นผู้บริหารงบประมาณว่าได้รับเงินที่จัดสรรมาแล้ว ศาลเห็นว่า ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น ตามมติของมหาเถรสมาคม ให้สำนักงาน พศ.พิจารณาที่จะส่งเสริมการจัดกิจกรรมในเชิงรุก ซึ่งจะกำหนดแผนไว้ 3 ไตรมาส และกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าโครงการอบรมฯ จำนวน 6 หมื่นคน ประจำปีงบประมาณ 2559 แต่ในการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศฯ ที่จำเลยที่ 5 ดูแล กลับดำเนินการได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย โดยมีผู้ร่วมโครงการจำนวน 22,000 คน กลับขอเงินอุดหนุนและได้รับอนุมัติถึง 30 ล้านบาท เพียงวัดเดียว 


ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจัดสรรงบประมาณ ต้องการให้กระจายงบในวัดทั่วประเทศจำนวน 39,400 กว่าแห่ง ในจำนวนนี้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมเช่นเดียวกันประมาณ 7,500 แห่ง โดยเมื่อเทียบดูเวลาการอนุมัติเงินให้วัดสระเกศฯ นี้ ได้กระทำในช่วงต้นของปีงบประมาณดังกล่าว ทั้งที่ไม่ใช่กรณีเร่งรัด 


จำเลยที่ 1-4 จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องรีบอนุมัติเงินจำนวนมากดังกล่าว ซึ่งควรจะมีการส่งเรื่องให้คณะเลขานุการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงานตรวจดูก่อน หากพบว่ามีการใช้งบประมาณไม่ได้เต็มที่หรือเกินความจำเป็นก็สามารถที่จะเรียกคืนเงิน เพื่อมาจัดสรรให้กับส่วนอื่นได้อีก การกระทำส่วนนี้จึงเป็นการอนุมัติงบประมาณสำนักงาน พศ. ที่จัดสรรให้กับวัดสระเกศฯ เพียงวัดเดียว โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามเป้าหมาย ส่วนงบประมาณจำนวน 7 ล้านบาท ในโครงการนี้ ตามทางนำสืบพบว่า เป็นการอนุมัติงบที่สืบเนื่องมาจากงบประมาณปี 2558 ที่ดำเนินการต่อเนื่องมา การกระทำของจำเลยที่ 1-5 ส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง


ส่วนการอนุมัติงบประมาณให้กับโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท วัดสระเกศฯ ก็ได้จัดสรร 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 26 ล้านบาท ครั้งที่สองจำนวน 6.5 ล้านบาท ซึ่งตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายก็ต้องวางแผนจัดกิจกรรมใน 3 ไตรมาส แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวที่กำหนดให้วัดซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณต้องกระทำให้ครบทั้ง 6 ด้าน อาทิ ด้านการปกครอง การศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา สาธารณสงเคราะห์พระภิกษุหรือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ แต่นำไปจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาและนำไปจัดทำเป็นรูปแบบสารคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเผยแพร่ทางสื่อมวลชนที่อ้างเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งแม้กิจกรรมส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ได้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดสรรงบ


อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการให้กับวัดสระเกศฯ เพียงแห่งเดียว จากวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีส่วนงานเผยแผ่ 7,424 แห่ง นอกจากนี้การอนุมัติเงินงบประมาณให้กับ 2 โครงการของวัดสระเกศฯ ตามทางนำสืบยังได้ความจากจำเลยตอบการถามของอัยการโจทก์ว่า ก่อนการอนุมัติเหมือนมีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการอนุมัติเงินงบประมาณทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอดีตอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฯ


สำหรับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ฯ ใช้อำนาจหน้าที่เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนฯ นั้น ในความผิดฐานนี้จะต้องฟังได้ว่าผู้กระทำผิดได้นำทรัพย์ที่เบียดบังมาไปใช้ประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น แต่ตามทางนำสืบรับฟังได้ว่าเมื่อจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทางวัดก็ได้นำไปจัดกิจกรรมตามโครงการ แต่ไม่ครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งหมด อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณฯ โดยตามทางนำสืบก็ยังไม่มีหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-5 นำเงินงบประมาณนั้นไปเป็นของตัวเอง 


ซึ่งประเด็นนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เบิกความว่าในการทำหน้าที่ตรวจสอบการนำเงินงบประมาณไปดำเนิน 2 โครงการนี้ ไม่มีการทุจริต โดยเงินนั้นนำไปใช้ประชาสัมพันธ์งานของคณะสงฆ์ ซึ่งในขั้นตอนนั้นไม่มีการวางระเบียบของคณะสงฆ์เรื่องการใช้จ่ายเงินไว้เป็นที่ชัดเจน จึงทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจคลาดเคลื่อน การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 147 ดังนั้นที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้กับสำนักงาน พศ. ผู้เสียหายด้วยนั้น เมื่อฟังได้ว่ามีการใช้งบประมาณไปจัดกิจกรรมด้านศาสนาแล้ว จึงไม่ต้องร่วมกันคืนเงินในส่วนนี้
พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุก นายพนม อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 จำนวน 2 กระทงๆ ละ 2 ปี รวม 4 ปี , จำเลยที่ 2-4 จำคุก 3 กระทงๆ ละ 2 ปี รวม 6 ปี ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
ส่วน พระพรหมสิทธิฯ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 จำคุก 3 กระทงๆ ละ 1 ปี 4 เดือน และปรับกระทงละ 12,000 บาท รวม 3 ปี 12 เดือน และปรับ 36,000 บาท ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 4 คงจำคุก จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 12 เดือน และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีหมายเลขดำ อท.253/2561 ที่มีโทษจำคุก 20 ปีและโทษจำคุก 3 เดือน คดีหมายเลขดำ จส.2/2562 ของศาลนี้ด้วย , จำเลยที่ 2-4 จำคุกคนละ 3 ปี 18 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 36 เดือน และปรับ 27,000 บาท

โดยในส่วนของ พระพรหมสิทธิฯ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม ภาวะแห่งจิต สิ่งแวดล้อม และสภาพความผิดของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นพระภิกษุ เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรมวินัย เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นผู้มีบทบาทในการส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับคณะสงฆ์ สังคม และสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา จนได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลายสาขาจากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่พระพรหมสิทธิซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าพระราชาคณะชั้นธรรม และรองลงมาจากสมเด็จพระราชาคณะ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 ประกอบกับไม่มีเรื่องการทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี

 

ภายหลังเสร็จสิ้นการฟังคำพิพากษา นายโฆสิต สุวินิจจิต ตัวแทนคณะศิษย์ของพระพรหมสิทธิ ให้สัมภาษณ์ว่า การตัดสินวันนี้รู้สึกสบายใจที่มีคำพิพากษาแล้วว่าไม่มีการทุจริต รัฐก็ไม่ได้เสียหาย และจำเลยทั้งห้าพ้นมลทินเรื่องทุจริต เพียงแต่พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157  ซึ่งเป็นขั้นตอนของระบบราชการ ส่วนพระพรหมสิทธิฯ จำเลยที่ 5 นั้นมีความผิดเกี่ยวกับการขอสนับสนุนงบประมาณโดยความจริงแล้วเป็นการขอในนามประธานสำนักงานศูนย์คุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยมหาเถระสมาคมไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน การกระทำก็เป็นไปตามหน้าที่ แต่ศาลเห็นว่าเมื่อเป็นผู้ทำเรื่องขอสนับสนุน ก็มีความผิดเรื่องสนับสนุนการกระทำผิดในมาตรา 157 แต่ตรงนี้ชัดเจนว่าไม่มีการทุจริตและรัฐไม่เสียหาย


เมื่อถามว่าคดีนี้เป็นการใช้เงินงบประมาณพุทธศาสนาผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ นายโฆสิต กล่าวว่า ไม่ได้ผิดวัตถุประสงค์ งบประมาณและทุกอย่างถูกต้อง แต่เป็นขั้นการของระบบราชการในสำนักงาน พศ. ไม่เกี่ยวกับพระผู้ใหญ่เพราะท่านไม่ได้รู้เห็นในขั้นตอนของสำนักงาน พศ. โดยคณะลูกศิษย์ ตกลงกันว่าจะขอใช้สิทธิอุทธรณ์คดีในส่วนของพระพรหมสิทธิฯ จำเลยที่ 5 ซึ่งปัจจุบันท่านก็ยังปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะอยู่ข้างในหรือนอกเรือนจำ อีกทั้งยังไม่เคยเปล่งวาจาลาสิกขา ยังปฏิบัติธรรมเป็นพระสมบูรณ์ครบถ้วน ปัจจุบันพำนักอยู่ในทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานใดๆ ของวัดสระเกศฯ


 ส่วนเรื่องการจะขอคืนสมณศักดิ์หรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องไกลเกินไป เป็นเหตุการณ์ในวันข้างหน้า ส่วนภายหลังฟังคำพิพากษาพระพรหมสิทธิฯ ได้กล่าวอะไรกับลูกศิษย์บ้าง นายโฆสิต  กล่าวว่า แน่นอนหากเป็นใครก็ต้องทุกข์ใจ พระผู้ใหญ่ที่มีผลงานมากมายอย่างในคำพิพากษาที่ระบุว่ามีความดีความชอบ ทั้งเรื่องการเผยแพร่ศาสนาในฐานะพระธรรมทูต ถ้าเปรียบเทียบในทางมหาเถรสมาคมก็เปรียบเหมือนรัฐมนตรีต่างประเทศ มีชื่อเสียงมากมาย แต่ตอนนี้ท่านก็มีความสบายใจระดับหนึ่ง สังคมจะได้เข้าใจ ที่ผ่านมาท่านเป็นห่วงแต่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไม่เคยห่วงตัวเอง ที่พระผู้ใหญ่จะต้องโดนคดี 


ดังนั้นเมื่อศาลตัดสินว่าไม่ทุจริต ชาวพุทธน่าจะสบายใจว่าพระผู้ใหญ่ไม่ได้ทุจริต แต่หากอัยการจะยื่นอุทธรณ์ให้ลงโทษในความผิดฐานเบียดบังทรัพย์ เราก็จะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ตนมั่นใจว่าพระผู้ใหญ่ของเราบริสุทธิ์จริง เนื่องจากท่านบวชตั้งแต่เป็นเณร หลังจากนี้จะคุยกับทนายความประเด็นการอุทธรณ์คดีอีกครั้ง

เมื่อถามว่าพระพรหมสิทธิฯ ยังมีอีกหลายคดีหรือไม่ นายโฆสิต กล่าวว่า ยังมีคดีฟอกเงินที่ต่อเนื่องจากกรณีเดียวกันที่มีการกล่าวหาว่าทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนวนคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณสำนักงาน พศ. ที่มีการกล่าวหากลุ่มของนายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. นั้น ประกอบด้วยคดีของนายพนม 9 สำนวน ที่มีอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง และภาค 7 (ในภาค 7 หมายเลขดำ อท.3/2562) ,นายชยพล พงษ์สีดา อดีตรอง ผอ.พศ. 2 สำนวน, นายณรงค์เดช ชัยเนตร ผอ.กองเผยแผ่ฯ 3 สำนวน ,นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี นักวิชาการพุทธศาสนาชำนาญการ 5 สำนวน ที่มีอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง และภาค 7 (ในภาค 7 หมายเลขดำ อท.3/2562) และ พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข หรือนายธงชัย สุขโข อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ 2 สำนวน โดยในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีกล่าวหาฟอกเงินทุจริตการจัดสรรงบประมาณ พศ.อีกสำนวนในคดีหมายเลขดำ อท.197/2561 ด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของนายพนม อดีต ผอ.พศ. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ได้มีคำพิพากษาไปในคดีหมายเลขดำ จส.2/2562 นั้น เป็นกรณีที่ ป.ป.ช.ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหาว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2557 จำนวน 7 รายการ (รายการเงินฝาก เงินลงทุน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ) จำนวน 43,900,256.45 บาท อันเป็นเท็จ ซึ่งนายพนมให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาว่านายพนมจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ อันเป็นเท็จ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ผอ.พศ. ให้จำคุก 6 เดือน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 คำรับสารภาพมีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง จึงจำคุกในคดีนี้เป็นเวลา 3 เดือน


อย่างไรก็ดี สำหรับคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณสำนักงาน พศ. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง มีคำตัดสินนายพนม อดีต ผอ.สำนักงาน พศ.ไปสำนวนแรก คือ คดีหมายเลขดำ อท.253/2561 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพนม อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. , นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน พศ. , นายเจษฎา วงศ์เมฆ ฆราวาสติดต่อหาวัด , นายชรินทร์ มิ่งขวัญ ฆราวาส ทำหน้าที่ติดต่อหาวัด เป็นจำเลยที่ 1-4 โดยศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.62 ให้จำคุก นายพนม อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 และ นายวสวัตติ์ อดีต ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ จำเลยที่ 2 รวม 4 กระทงๆ ละ 5 ปี เป็นจำคุกคนละ 20 ปี

ส่วน นายเจษฎา จำเลยที่ 3 ให้จำคุก 4 กระทงๆ ละ 3 ปี 4 เดือน เป็นจำคุก 12 ปี 16 เดือน แล นายชรินทร์ จำเลยที่ 4 ฆราวาสซึ่งทำหน้าที่ติดต่อหาวัด จำเลยที่ 4   จำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยจำเลยที่ 3-4 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งให้จำคุกนายเจษฎา จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน ส่วน นายชรินทร์ จำเลยที่ 4 จำคุก 1 ปี 8 เดือน

นอกจากนี้ศาลให้ จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันคืนเงิน 12 ล้านบาทแก่สำนักงาน พศ.ด้วย ส่วนจำเลยที่ 4 ฆราวาสซึ่งทำหน้าที่ติดต่อหาวัด ให้รับผิดคืนเงิน 3 ล้านบาทตามที่อัยการมีคำขอด้วย ซึ่งคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์

อย่างไรก็ดี นอกจากการกล่าวหาร่วมทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณสำนักงาน พศ.แล้ว ยังมีคดีกล่าวหาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในวัดพื้นที่ กทม.หลายแห่ง รวมทั้งต่างจังหวัดอีกด้วย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินการทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงาน พศ. ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง ก็มีคำตัดสินคดีฟอกเงินฯ ไปแล้ว 2 สำนวน ประกอบด้วย 1. คดีหมายเลขดำ อท.38/2561 กล่าวหาฟอกเงินจากการที่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อายุ 61 ปี อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. (ตัวยังหลบหนี) คดีทุจริตจัดสรรงบประมาณ จำนวน 28 ล้านบาท ให้วัด 12 แห่งในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ , ตาก , นครสวรรค์ , ชุมพร โดยมิชอบ ที่ลงโทษจำคุก นายสมเกียรติ ขันทอง อดีตพระครูกิตติ พัชรคุณ อดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดลาดแค อายุ 56 ปี รวม 13 กระทง เป็นเวลา 26 ปี (ตัดสินวันที่ 18 เม.ย.62 คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยไม่ได้ประกันตัว)


2.คดีหมายเลขดำ อท.196/2561 กล่าวหาฟอกเงินจำนวน 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งที่ไม่มีการดำเนินโครงการ โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา นำงบที่ได้มานั้นไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก ที่ลงโทษ 2 กระทง นายเอื้อน กลิ่นสาลี อายุ 75 ปี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา , กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) , เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 จำคุก 6 ปี  และ นายสมทรง อรรถกฤษณ์ อายุ 53 ปี อดีตพระอรรถกิจโสภณและเลขาเจ้าคณะกรุงเทพ จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี (ตัดสินวันที่ 16 พ.ค.62 คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ทั้งสองได้ประกันตัวคนละ 2 ล้านบาท) โดย นายเอื้อน กลิ่นสาลี อายุ 75 ปี อดีตพระพรหมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ยังถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 5 ในคดีหมายเลขดำ อท.254/2561 ร่วมกับนายพนม อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. และพวกรวม 5 คนที่มีทั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ กับฆราวาส ร่วมกันทุจริตเงินงบประมาณ พศ.อีก 1 สำนวนด้วย (คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา)