นับถอยหลัง "อนาคตใหม่" "ยุบ-ไม่ยุบ" พรรค

15 ก.พ. 2563 | 06:30 น.

 

งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับกรณี “คดีกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท” ระหว่าง พรรคอนาคตใหม่ กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีนี้ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น.

อีกไม่กี่วันก็จะเป็นการชี้ชะตาอนาคตของเหล่า ส.ส. สมาชิกพรรค และกรรมการ บริหารพรรคอนาคตใหม่ทุกคน

ย้อนไปดูเส้นทางของ คดีนี้ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เมื่อนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้ไปบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ว่า ได้ให้พรรคยืมเงินไปเพื่อใช้ในกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประมาณ 110 ล้านบาท เพราะระดมทุนไม่ทัน

จากนั้นนางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้เป็นการยืมเงิน แต่เป็นการปล่อยกู้ให้กับพรรค และเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก “กรรมการบริหารพรรค” เป็นที่เรียบร้อย แล้ว โดยทางพรรคตกลงทำสัญญาจะจ่ายเงินคืนให้แก่นายธนาธรทั้งหมด

กระทั่ง ปรากฏหลักฐานการกู้ยืมเป็นเอกสารชัดเจน เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งส.ส.ซึ่งในครั้งนั้น นายธนาธร แจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่าได้ให้พรรคกู้ยืมเงินไปกว่า 191 ล้านบาทรวม 2 สัญญา

 

นับถอยหลัง "อนาคตใหม่" "ยุบ-ไม่ยุบ" พรรค

 

สัญญาแรกทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 จำนวน  161.2 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี กำหนดเงื่อนไขให้พรรคต้องชำระหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยปีที่ 1 ชำระเงินต้น 80 ล้านบาท ปีที่ 2 ชำระเงินต้น 40 ล้านบาทและปีที่ 3 ชำระเงินต้น 41.2 ล้านบาท หากผิดชำระจะมีค่าปรับวันละ 100 บาท ซึ่งในสัญญาฉบับนี้ พรรคอนาคตใหม่รายงานว่าได้ชำระคืนเป็นเงินสดคืนให้กับ นายธนาธร บางส่วนแล้ว อีกฉบับทำขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 จำนวน 30 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยสัญญาทั้ง 2 ฉบับมีชื่อ นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรคอนาคตใหม่ ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรคเป็นผู้รับสัญญาผู้กู้

ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 ในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่  ซึ่งกกต.ได้มีมติพิจารณารับคำร้องไว้ในวันรุ่งขึ้น (22 พฤษภาคม 2562) และได้เรียกนายศรีสุวรรณเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 และมีหนังสือเชิญบุคคลในพรรคอนาคตใหม่เข้าให้ข้อมูลแก้ข้อกล่าวหาในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562


 

 

ขณะที่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 กกต.ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่าพรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งเอกสารบางส่วนแล้ว แต่ขอขยายเวลาการจัดส่งเอกสารที่ยังไม่ได้จัดส่งต่อกกต.ออกไปอีก 120 วัน เป็นภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นไปตามมติการประชุมกกต.ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562

ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 กกต.ได้มีมติเสียงข้างมากให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง(3) ประกอบมาตรา 93 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560

ก่อนสิ้นปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องของ กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ในวันที่ 25 ธันวาคม 2562 พร้อมให้แจ้งให้ผู้ร้องทราบและส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวซึ่งครบกำหนดในวันที่ 10 มกราคม 2563

อย่างไรก็ดี ก่อนครบกำหนดพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นหนังสือขอขยายเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลก็อนุญาต ให้ขยายเวลาต่อไปอีก 15 วันโดยครบกำหนดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

ในวันดังกล่าว พรรคอนาคตใหม่ได้มอบหมายให้ทีมทนายความเดินทางไปยื่นชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านและขอให้ศาลสั่งให้มีการไต่สวนพยาน 17 ปาก ในคดีนี้อย่างเปิดเผย ซึ่งเกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนพรรค และพยาน 17 ปากส่งคำชี้แจงเพียง 1 วัน คือ ภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์

ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้อง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ขอให้เปิดการไต่สวนในคดีนี้ แต่ได้ขยายเวลาให้พยานทั้งหมดส่งคำชี้แจงมาใหม่อีก 5 วัน เป็นภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 และนัดวินิจฉัยตามวัน และ เวลาเดิม คือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น.

 

 

คดีนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ กฎหมายกำหนดให้ส.ส.ของพรรคต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน ขณะที่ “คณะกรรมการบริหารพรรค” ต้องสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีทั้งยังต้องโทษ จำคุกในคดีอาญาไม่เกิน 5 ปี

ตามบทบัญญัติมาตรา 124 ระบุว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรค 1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี

มาตรา 125 บัญญัติว่าพรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 วรรค 2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการ
เมืองมีกำหนด 5 ปี และให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุนพรรคการเมืองด้วย

เป็นเวลารวม 59 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของกกต.ไว้พิจารณา ถึงวันที่คดีนี้กำลังจะรูดม่านปิดฉากลง ผลจะออกมาเช่นไร จะ “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” พรรคอนาคตใหม่ ได้รู้พร้อมกันในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้แน่นอน

 

วันที่ 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563