ลุ้นศาลรธน.วินิจฉัยพ.ร.บ.งบ63“โมฆะ-ไม่โมฆะ”

28 ม.ค. 2563 | 09:39 น.

ระทึก! ลุ้นศาลรธน.พิจารณาปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกันโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท “โมฆะ- ไม่โมฆะ”

 

วันนี้สถานการณ์รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าขั้นวิกฤติ จากปัญหาภายนอกและปัญหาภายในรุมเร้า โดยเฉพาะปัญหาอันเกิดจากการลงมติรับ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่มี “ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน” ที่ส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้อาจเป็น “โมฆะ” สุ่มเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่มีเงินมาบริหารประเทศ

 

มีความพยายามในการหาทางออกและแผนรับมือในเรื่องนี้มาโดยตลอดจากฝั่งรัฐบาล นับตั้งแต่วันที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 20 มกราคม  

 

 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดนราธิวาส พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการครม. ร่วมหารือเพื่อหาทางออกเรื่องนี้

 

มีกระแสข่าวหลุดรอดออกมาว่า นายวิษณุ มือกฎหมายของรัฐบาล เสนอกลางที่ประชุมว่า เพื่อไม่ให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ทั้งฉบับเป็นโมฆะ ต้องให้ ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันยอมรับว่า ได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นส่วนของคดีอาญา ส่วนการออกกฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นก็ต้องไปต่อสู้ว่า เมื่อหักจำนวนเสียงส.ส.ที่มีการเสียบบัตรแทนกันออกแล้ว จำนวนเสียง ส.ส.ที่ลงคะแนนให้ความชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯฉบับนี้มีเสียงมากกว่าซึ่งไม่กระทบกับสาระหลักสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้

ในขณะที่ ขุนคลังของรัฐบาล นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ก็เรียกประชุมด่วนเพื่อหารือกับ 4 หน่วยงานทั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หาทางออกของเรื่องนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

 

แนวทางหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา คือ อาจขอมติครม.ให้ความเห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินการใช้งบประมาณไปพลางก่อนเพื่อบรรเทาปัญหาในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งในการประชุมครม.ครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งในที่ประชุมครม.ได้ให้สำนักงบไปพิจารณาหาทางเลือกอื่นพร้อมกำชับให้เตรียมพร้อมในเรื่องนี้ไว้

 

เงื่อนปมสำคัญนี้จะคลี่คลายไปในทิศทางใด ต้องรอลุ้นกันในวันพุธที่ 29 มกราคมนี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้องของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งในหนังสือที่ส.ส.เข้าชื่อกันเพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภานั้น ขอให้วินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ 1.กระบวนการร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรธน.2560มาตรา 120 หรือไม่ 2.หากมีปัญหาจะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และ3.จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร 

ประเมินกันว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตีความแล้ว ตามขั้นตอนกระบวนการของศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาว่า จะให้ “โมฆะ” หรือไม่นั้น จะใช้เวลาอย่างช้าที่สุดประมาณ 2 เดือน หรือถ้าเร็วที่สุดก็ประมาณ 15 วันหรือประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็จะได้ทราบผลคำวินิจฉัยเรื่องนี้กัน