'เรืองไกร'ยื่นป.ป.ช.สอบบิ๊กตู่ ประมูลแหลมฉบังเฟส3

26 ม.ค. 2563 | 08:02 น.

รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันที่ 27 มกราคมนี้ เวลา 10.00 น. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว. จะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กรณีการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่ามีการดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่จะเข้ามาดำเนินการในโครงการหรือไม่ เพราะการที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รีบดำเนินการนี้ต่อโดยไม่รอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ถึงที่สุดก่อน 

ขณะที่มติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมาก็ชี้ข้อพิรุธของการพิจารณาโครงการดังกล่าว จึงเห็นว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรงในโครงการอีอีซี อาจมีพฤติการณ์เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปล่อยปละละเลยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เสนอราคาเพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง  ระยะที่ 3 

ก่อนหน้านี้ตัวแทนกลุ่มพนักงานปกป้องผลประโยชน์การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ตัวแทนพนักงานการท่าเรือ ยื่นหนังสือขอให้ผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (สร.กทท.) ตรวจสอบการที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทำให้รัฐเสียหายในการประมูลแหลมฉบังเฟส 3

ทั้งนี้ กลุ่มพนักงานฯ ดำเนินการยื่นครั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุด โดยได้ตั้งข้อสังเกตกรณีการยื่นอุทธรณ์ที่ทำให้ภาครัฐได้ผลตอบแทนเพียง 12,000 ล้านบาท จากที่ควรจะได้รับ 27,000 ล้านบาท รวมทั้งตั้งข้อสังเกตที่อาจจะมีการล็อกสเป็ก

สาเหตุที่ต้องการให้คณะกรรมการ กทท.ตรวจสอบ เพราะการประมูลโครงการนี้ มีเอกชนสนใจเข้าเสนอราคา 2 ราย คือ กิจการร่วมค้า NPC และ กิจการร่วมค้า GPC ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ตัดสิทธิ์การร่วมประมูลของกิจการร่วมค้า NPC โดยไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 เพราะลงนามไม่ครบถ้วนในหนังสือข้อเสนอ ซึ่งทำให้เหลือกิจการร่วมค้า GPC ผ่านรายเดียว ทำให้เกิดการร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

นอกจากนี้ การตัดสิทธิ์เอกชนรายดังกล่าวนำไปสู่การฟ้องร้องศาลปกครอง ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้อำนาจในนาม กทท.ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด และขณะนี้อยู่ขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด โดยทำให้พนักงาน กทท.จำนวนมากกังวลเรื่องนี้ เพราะโครงการนี้มีอายุสัมปทานถึง 35 ปี และมีผลตอบแทนที่ กทท.สมควรได้รับจากผู้ได้รับสัมปทานหลายหมื่นล้านบาท

รวมทั้งการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีพฤติการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลในการตัดสิทธิ์ผู้ประมูล ด้วยเหตุผลลงนามไม่ครบถ้วนในข้อเสนอ ซึ่งทำให้เหลือผู้ยื่นประมูล 1 รายเดียว ซึ่งเป็นรายที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของที่โครงการตั้งไว้ โดยมิได้สนใจที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นแล้วว่าไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ และมิได้มีกฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ควรจะไปตัดสิทธิ์ให้เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมิน
 

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่พิจารณาความเห็นของที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงคำพิพากษาของศาลปกครองที่ออกมาแนวทางเดียวกัน ไม่ว่าจะข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย 

นอกจากนี้ หลังจากที่มีคำพิพากษา คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด โดยมิได้คำนึงว่าถ้าเกิดการประมูลต่อ และมีการแข่งขันกันระหว่างผู้ยื่นประมูลทั้ง 2 ราย ซึ่ง กทท.จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดมากกว่าที่เหลือ 1 รายเดียวที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอผลตอบแทนต่ำชนะประมูล