คลังเตรียมถกสำนักงบฯ รับมือเบิกจ่ายงบล่าช้า

24 ม.ค. 2563 | 02:17 น.

คลังเตรียมถกสำนักงบฯ รับมือเบิกจ่ายงบล่าช้า ยันไม่มีแผนออกพ.ร.ก.กู้เงิน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังคลังมีแผนหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อติดตามสถานการณ์เบิกใช้งบประมาณปี 2563 ในกรณีที่หากเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ล่าช้าควรจะมีแนวทางออกมาอย่างไร เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวยังระบุรายละเอียดไม่ได้ว่าแนวทางจะเป็นแบบไหน เพราะส่วนหนึ่งต้องรอกระบวนการพิจารณาเรื่องงบประมาณดังกล่าวให้สิ้นสุดเสียก่อน แต่ยืนยันยังไม่มีแนวคิดที่จะต้องออกพรก.เงินกู้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวแน่นอน

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

90ไฟลต์จีนทะลักกระบี่

ตระกูลดัง-บ้านโบราณ ไม่สะท้าน ภาษีที่ดิน

เอกชนร้องคนกลุ่มเดียวทำศก.พัง ไตรมาสแรกจ่อไอซียู

แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณ ระบุว่า แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีงบประมาณปี 2563 มีการเบิกใช้ได้ล่าช้าจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนก.พ.นี้จริง ในเบื้องต้นรัฐบาลคงจะใช้วิธีการเบิกจ่ายด้วยการใช้งบปี 2562 ไปพรางก่อน ซึ่งการเบิกใช้งบประมาณประจำ เช่น การเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ การเบิกจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค หรือที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำยังสามารถเบิกใช้ได้อยู่ ทำให้การบริหารงานของราชการประจำจะไม่สะดุดและมีปัญหาอะไร 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความเป็นห่วงคือการเบิกจ่ายเงินลงทุนของหน่วยงานราชการที่จะล่าช้าไปด้วยและทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบตาม ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลอาจต้องหารือกับสำนักงบประมาณ ให้มีการออกประกาศปรับเงื่อนไขการเบิกจ่ายงบลงทุนที่มีการผูกพันไว้แล้ว ให้สามารถเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันในกรณีที่งบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า สำนักงบฯได้กำหนดเพดานงบรายจ่ายด้านลงทุนที่ผูกพันข้ามปีไว้เพียง 50 %เท่านั้น ดังนั้นอาจจะปรับเพิ่มเพดานเบิกจ่ายงบลงทุนที่มีการผูกพันได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำได้สูงสุดถึง 100% เพื่อให้มีเงินลงทุนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ก่อนในช่วงนี้ 

ส่วนข้อเสนอให้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน คงจะทำไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุไว้ว่าหากรัฐบาลจะทำจะต้องเป็นพ.ร.บ.เท่านั้น ซึ่งในกระบวนการออก พ.ร.บ. ก็ต้องใช้เวลาพิจารณาและผ่านขั้นตอนอีกพอสมควรจึงไม่เหมาะช่วงนี้ ขณะที่แนวทางการใช้งบฉุกเฉิน หรือเงินทุนสํารองจ่าย ที่ครม. สามารถใช้อำนาจกฎหมายของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 อนุมัติได้สูงถึง 50,000 ล้านบาทนั้น มีเงื่อนไขว่าจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน หรือกรณีงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็นไม่เพียงพอเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์คงยังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีนี้ และอาจเก็บไว้เป็นวิธีท้ายสุด 

นอกจากนี้ ระหว่างนี้ รัฐบาลยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานราชการเร่งตั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและจัดทำทีโออาร์ไว้ควบคู่กันไปก่อน หากงบประมาณผ่านการพิจารณาก็สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที ขณะเดียวได้ให้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะมีมาตรการเร่งรัดการลงทุนออกมา โดยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะประคองเศรษฐกิจในขณะนี้ ในช่วงที่ไม่มีงบประมาณออกมาได้