ด่วน!“อนาคตใหม่”รอดยุบพรรค

21 ม.ค. 2563 | 05:11 น.

 

มติศาลรัฐธรรมนูญ “อนาคตใหม่”รอดยุบพรรค ชี้พฤติการณ์ยังไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่ข้อบังคับพรรคมีปัญหา ไม่ชัดเจน แนะกกต.สั่งแก้ไข ด้าน “ณฐพร”พอใจคำวินิจฉัย ถือว่าทำหน้าที่ปกป้องสถาบันสำเร็จ                                          

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรค ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และข้อบังคับพรรคที่เขียนในลักษณะไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
 


โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า จากคำร้องเป็นกรณีกล่าวอ้างว่าข้อบังคับ นโยบายพรรค และสัญญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 14 (1)  จากบทบญญัติดังกล่าว จะพบว่าเป็นอำนาจหน้าที่กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องตรวจสอบว่า คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องหรือไม่ เมื่อตรวจสอบถูกต้องครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะรับจัดตั้งพรรคและประกาศในราชกิจจนุเบกษา 

กรณีดังกล่าวปรากฎข้อเท็จจริงว่า ในกระบวนการยื่นคำขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองอนาคตใหม่ มีการยื่นเอกสารข้อบังคับพรรค พร้อมคำประกาศอุดมการณ์ และสัญญลักษณ์พรรค  นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบความถูกต้องและรับจดจัดตั้ง โดยความเห็นชอบของกกต.และมีประกาศจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ จึงไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ หากภายหลังพบว่าข้อบังคับพรรคไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรายงานต่อกกต.ให้มีมติเพิกถอนข้อบังคับพรรค ตามมาตรา 17 (3) ได้ กรณีจึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอว่า เป็นใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปครองฯ

 

"การยื่นคำร้องของนายณฐพร เป็นเพียงข้อห่วงใยในฐานะพลเมืองที่มีต่อสถาบันและระบอบการปกครองของประเทศ โดยงานข้อบังคับ พรรคใช้ถ้อยคำว่า "หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ" โดยเฉพาะคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ที่ใช้ถ้อยคำว่า "จะยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย"นั้น ศาลเห็นว่าควรทำให้มีความชัดเจนไม่คลุมเครือ แตกต่างจากมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกของชนในชาติ ตามมาตรา14(3) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งกกต.มีหน้าที่และอำนาจที่จะพิจารณาและเพิกถอน เพื่อป้องกันความสับสนขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นสมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป"

 ส่วนกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ถูกร้องมีแนวคิดคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก และเป็นปฏิกษัตริย์นิยม มีการแสดงความเห็นทั้งก่อนและหลังการจัดตั้งพรรคการเมือง รวมถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และการแสดงความเห็นต่อสังคมในช่องทางต่างๆ ศาลเห็นว่า การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอ ในระดับที่ทำให้เกิดผล และกระทบสิทธิและเสรีภาพ จนถึงขนาดที่วิญญูชนอาจคาดการณ์ได้ว่า น่าจะเกิดผลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง  โดยการกระทำนั้นจะต้องดำเนินการอยู่ ไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ  แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากกฎในคดีเป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็ปไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเตอร์เน็ต จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 4 มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง กรณีจึงไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปครอง ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ส่วนการกระทำจะเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นใดหรือไม่ ต้องว่ากันตามกระบวนการและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ไม่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

ภายหลังรับฟังคำวินิจฉัย นายณฐพร กล่าวว่า พอใจกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและเป็นคำตัดสินที่ถูกต้องแล้ว ถือว่าได้ทำหน้าที่สำเร็จแล้วในการรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะตนต้องการชี้ให้ประชาชนเห็นว่ามีบางพรรคการเมืองต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ต้องการกลั่นแกล้งพรรคอนาคตใหม่ เท่าที่ฟังศาลเองได้ให้พรรคอนาคตใหม่ไปปรับเปลี่ยนข้อบังคับให้เกิดความชัดเจนขึ้น ไม่ให้มีความคลุมเครือ เรื่องนี้กกต.ต้องเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการต่อในเรื่องนี้