“อียู-อังกฤษ”ขอศาลรธน.เข้าฟังคดียุบอนาคตใหม่

20 ม.ค. 2563 | 10:10 น.

“อียู-สถานทูตอังกฤษ”ประสานขอร่วมฟังศาลรธน.วินิจฉัยคดียุบอนาคตใหม่ กรณีล้มล้างการปกครองฯ พรุ่งนี้  

บ่ายวันนี้(20 ม.ค.63) ซึ่งเป็นวันก่อนศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค  เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่  ทางศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจัดเตรียมสถานที่ และวางมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยมีการนำแผงเหล็กมากั้นแนวเขตของศาลรัฐธรรมนูญ 

โดยแบ่งออกเป็นโซนสื่อมวลชนที่มีการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดถ่ายทอดจากห้องพิจารณาคดีลงมายังบริเวณชั้นล่าง และห้องสื่อมวลชนได้รับฟัง ส่วนอีกโซนหนึ่งเป็นจุดแรกบัตรและตรวจค้นอาวุธ  ซึ่งจะอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นห้องพิจารณาคดี โดยที่จุดนี้ตัวแทนผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี จะต้องแลกบัตรและตรวจอาวุธ รวมทั้งฝากสิ่งของ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ  

ส่วนประชาชนที่จะมาให้กำลังใจหรือติดตามรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยคดี เจ้าหน้าที่ได้จัดพื้นที่บริเวณโถงกลางของอาคารเอ  พร้อมติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ของบริษัทพัฒนาสินทรัพย์  อย่างไรก็ตามทั้ง 3 จุด จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจากสน.ทุ่งสองห้อง และกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 คอยดูแลในเรื่องความปลอดภัย 

                                                                         “อียู-อังกฤษ”ขอศาลรธน.เข้าฟังคดียุบอนาคตใหม่

 

 

และแม้ทางแกนนำพรรคอนาคตใหม่จะไม่เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่อาจจะเดินทางมาน้อยหรือไม่เดินทางมาฟังคำวินิจฉัย แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นที่สนใจของสังคม จึงได้มีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเบื้องต้นไว้ประมาณ 1 กองร้อย หรือ 150 คน โดยจะมีการประเมินอีกครั้งในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้  

ขณะเดียวกันตัวแทนสถานทูตต่างประเทศ ได้มีการประสานที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังคำวินิจฉัยเช่นเดิม  ทั้ง สหภาพยุโรป หรืออียู และสถานทูตอังกฤษ


สำหรับคดีนี้นายณฐพร ได้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุพฤติการณ์ในคำร้องที่ทำให้เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่และพวกกระทำการล้มล้างการปกครอง  ไม่ว่าจะเป็นข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ไม่มีถ้อยคำที่ปรากฎถึงการยอมรับว่าประเทศไทยต้องมี “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แต่กลับใช้คำว่า “ หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” แทน  
การปรากฎข่าวนายธนาธร  เป็นนายทุนเว็บไซต์และนิตยสาร “ฟ้าเดียวกัน” ที่เนื้อหาเน้นลดความน่าเชื่อถือสถาบัน การที่นายธนาธร พูดเชิญชวนคนไทยมาร่วมกันทำภารกิจเมื่อพ.ศ. 2475 เนื่องจาก 86 ปีแล้วยังทำไม่สำเร็จ  


การประกาศว่าหากได้เป็นนายกฯ พระมหากษัตริย์ไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จะยกเลิกให้หมดทุกอย่างที่เป็นรัฐบาลทหาร และยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 การชูแนวคิดเลิกกราบไหว้เคารพครูอาจารย์ ตามประเพณี เลิกการยิ้มสยามที่มองว่าไม่มีจุดยืน ไม่มีเหตุผล  ล้มเลิกการอุปถัมภ์ทุกศาสนาในประเทศไทย 

                                                         “อียู-อังกฤษ”ขอศาลรธน.เข้าฟังคดียุบอนาคตใหม่

 

หรือการที่นายปิยบุตร แสดงทัศนคติทั้งขณะที่ยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ว่า สถานะของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มีอำนาจเกินควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย  โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นหน่วยงานทางการเมือง หน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใด ๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป ในทางรูปธรรมหมายถึง การไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้  


ขณะที่การแถลงนโยบายของพรรคเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.61 ที่ประกาศจะลงนามสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาประมุขของรัฐไม่ได้รับการยกเว้นจากการรับผิดทางอาญา  สัญลักษณ์สามเหลี่ยมด้านเท่าหัวกลับของพรรคที่คล้ายกับสัญลักษณ์สมาคมอิลลูมิเนติที่อยู่เบื้องหลังการล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์หลายประเทศในยุโรป   

ทั้งนี้ คณะตุลาการฯ จะมีการประชุมในเวลา 10.00 น.เพื่อแถลงด้วยวาจาและลงมติ ก่อนจะอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 11.30 น. วันที่ 21 ม.ค.นี้