ศาลปกครองสูงสุดยกคำสั่งทุเลากลุ่มเอ็นซีพี

17 ม.ค. 2563 | 09:47 น.

ศาลปกครองสูงสุด ยกคำขอเอ็นซีพีทุเลาคำสั่งไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ชี้ คำขอของ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ยังไม่เข้าเงื่อนไข ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับได้

17 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ยกคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีที่ขอกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในการทุเลาการบังคับตามคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการฯให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในการเสนอตัวร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F จากเดิมที่ศาลปกครองชั้นต้น พิจารณาคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีแล้วมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า กรณีตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ยังไม่เข้าเงื่อนไขในการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ จึงให้ยกคำขอ กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในการทุเลาการบังคับตามคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

สำหรับคดีนี้ บริษัท นทลิน จำกัด , บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด , บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) , บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค จำกัด ( โดยบริษัททั้ง 4 แห่ง และบริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกันในนาม กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F , คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก , คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ในคดีหมายเลขดำ 1986/2562 เรื่องออกคำสั่งโดยไม่ชอบ

โดยศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น พิจารณาข้อเท็จจริง เอกสารที่เกี่ยวข้อง และข้อกฎหมายแล้วมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ย.62 เห็นว่า การที่กลุ่มบริษัทในนาม กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ดังกล่าว ระบุรายชื่อ-ตำแหน่งของตัวแทนหรือผู้แทน โดยที่ตัวแทนหรือผู้แทน ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องที่แบบเอกสารภาคผนวก 16-ฌ กำหนด (แบบเอกสาร 16-ฌ เป็นเอกสารที่ให้สมาชิกผู้ร่วมลงทุนแสดงความรับผิดชอบร่วมกันหรือแทนกัน) แต่กลับลงลายมือชื่อในที่ว่างด้านล่างของแผ่นกระดาษเรียงตามแนวยาวแทนนั้น เป็นเพียงการเสนอรายละเอียดแตกต่างไปจากเงื่อนไขที่กำหนดในแบบเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ซึ่งเห็นได้ชัดโดยสภาพของเรื่องว่า ไม่มีผลทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นแต่อย่างใด คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3  จึงไม่อาจตัดสิทธิกลุ่มบริษัทดังกล่าว จากการเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในนาม กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี

ด้วยเหตุดังกล่าวได้ คำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้กลุ่มบริษัทในนาม กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 โดยการเพิกถอนคำสั่งนั้นให้มีผลนับแต่วันที่ออกคำสั่ง คือวันที่ 23 เม.ย.62 และให้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ทุเลาการบังคับคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไว้เป็นการชั่วคราวนั้นยังมีผลต่อไปจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยให้ยกฟ้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ขณะที่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3ฯ  ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาและมีคำสั่งเรื่องทุเลาการบังคับคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯก่อนส่วนการอุทธรณ์เนื้อหาคดีหลักยังพิจารณาต่อไป