ปิดฉาก15ปีอดีตขุนคลัง“กรณ์”ใต้ชายคา“ประชาธิปัตย์”

15 ม.ค. 2563 | 07:20 น.

ปรากฎการณ์ฟ้าผ่ากลางงานเลี้ยงปีใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อคืนวันที่ 14 มกราคม 2563 ทำให้ชื่อของ “กรณ์ จาติกวณิช” กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง

 

“ฐานเศรษฐกิจ” พาย้อนไปดูประวัติ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตขุนคลังเจ้าของฉายา “หล่อโย่ง” รายนี้กันบอกได้คำเดียวว่า "ไม่ธรรมดา" 

 

“กรณ์” จบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ใช้เวลาว่างระหว่างเรียนเล่นกีฬาต่างๆเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะ พายเรือ กีฬาขึ้นชื่อของมหาวิทยาลัยที่โปรดปรานเป็นพิเศษ เพราะเป็นกีฬาที่ฝึกความอดทน ความสามัคคี และความมีวินัย ได้เรียนรู้หลายๆอย่างจากกีฬาชนิดนี้   

 

หลังจากจบการศึกษามีได้ทำงานร่วมกับบริษัทจัดการกองทุนแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ กระทั่งได้รับตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน อายุได้ 23 ปีจึงตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย มาก่อตั้งบริษัท หลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด ในปี 2531 ดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการผู้จัดการบริษัท และนำพาบริษัทฯขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจหลักทรัพย์ ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดติด 1 ใน 3 ของบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยเวลานั้น ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มาได้

ในปี 2542 ตัดสินใจขายหุ้นให้กับบริษัท เจพีมอร์แกนเชส และได้รับการร้องขอให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประจำประเทศไทย) จำกัด ดูแลธุรกิจทางด้านธนาคารและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงธุรกิจหลักทรัพย์ที่ยังดำเนินอยู่ จากนั้นได้ขายธุรกิจหลักทรัพย์ (กลุ่มลูกค้ารายย่อย) ให้กับกลุ่มธนาคารกรุงเทพแต่บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน ยังคงดำเนินธุรกิจทางด้านวาณิชธนกิจและธุรกิจหลักทรัพย์ (เฉพาะลูกค้าสถาบัน)

 

กระทั่งในปี 2547 ตัดสินใจลาออกจากธุรกิจทิ้งเงินเดือน 6 ล้านบาท มุ่งหน้าสู่เส้นทางทางการเมือง เริ่มต้นลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548

 

จากนั้นได้รับตำแหน่งเป็น รองเลขาธิการพรรค และรองประธานกรรมาธิการการเงินการคลังของสภาผู้แทนราษฎร รับหน้าดูแลพัฒนาพื้นที่ในเขตยานนาวาและสาทร หลังจากได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นส.ส.สมัยที่ 2 เมื่อปี 2550 ดูแลพื้นที่เพิ่มเติมอีก 3 เขต คือ บางคอแหลม คลองเตย และวัฒนา

 

จากความรู้ความสามารถทางด้านการเงินการคลังที่มีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “กรณ์” ขึ้นแท่นนั่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วงที่กำลังเกิดวิกฤติการเงินรุนแรงทั่วโลก ไม่ต่างกับการเมืองในประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ภายใต้การคุมทัพของเขากลับตรงกันข้ามสามารถพาเศรษฐกิจไทยก้าวพ้นวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกไปได้ ทั้งยังพลิกฟื้นกลับมาเป็นอันดับ 2 ของโลกได้จนนิตยสารเดอะ แบงค์เกอร์ ของอังกฤษในเครือของ “ไฟแนนเชี่ยล ไทม์ส” ยกให้เขาเป็น “รัฐมนตรีคลังโลก” ในเวลานั้นแบบไร้ข้อกังขา และเป็นรัฐมนตรีคลังของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2010  

 

อย่างไรก็ดี ภายหลังเมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กรณ์ ยังมีบทบาทสำคัญมาต่อเนื่อง เมื่อพรรคได้จัดตั้ง “ครม.เงา”ขึ้นเพื่อติดตามตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล โดยกรณ์ได้รับเลือกจากพรรคให้ทำหน้าที่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา”ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  

 

ในการเลือกตั้งปี 2562“กรณ์"เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ลำดับที่ 7 หลังการลาออกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ไม่ได้ ส.ส.ตามเป้าที่ตั้งไว้จึงมีการเลือกตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยกรณ์ได้ลงสมัครช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย ได้รับผลโหวตเป็นอันดับ 3 รองจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  

 

นับตั้งแต่เป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคจนประกาศตัดสินใจลาออกในวันที่ 14 มกราคม 2563 รวมระยะเวลาที่อยู่ใต้ชายคา “พรรคประชาธิปัตย์” มากว่า 15 ปี 

 

"กรณ์" ให้เหตุผลการลาออกครั้งนี้ว่า ...เพื่อต้องการเดินหน้าสร้างทางเลือกทางการเมืองที่คนไทยแสวงหา เป็นการเมืองที่ต้องกล้าคิด กล้าทำ และเป็นการเมืองที่มั่นใจในศักยภาพของคนไทย...