“วิลาศ” จี้สอบทุจริต ยืดสัญญาสภาใหม่รอบ4

08 ธ.ค. 2562 | 05:57 น.

“วิลาศ” ขู่ร้อง ป.ป.ช.-สตง. สอบทุจริตขยายสัญญาสร้างสภาใหม่ครั้งที่ 4 แนะควรปรับค่าเสียหายจากผู้รับเหมาวันละ 12 ล้าน จี้ตั้งกรรมการสอบ "สรศักดิ์" เหตุขยายสัญญาโดยใช้หลักฐารเท็จ

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวคัดค้านการต่อสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ออกไปอีกเป็นครั้งที่ 4 หลังมีการขยายออกไปหลายครั้งนานหลายปี ก่อนที่การขยายสัญญาครั้งที่ 3 กว่า 1,482 วัน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ 

ความคืบหน้าการก่อสร้างทั้งหมดยังแล้วเสร็จไม่ถึง 70% เห็นว่า การขยายสัญญาหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ถูกต้อง เช่น การขยายสัญญาครั้งที่ 3 ในปี 2561 อ้างว่าได้รับการส่งมอบพื้นที่จากโรงเรียนโยธินบูรณะล่าช้า ทั้งที่โรงเรียนได้ย้ายไปที่ตั้งใหม่ตั้งแต่ปี 2559 รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทยฯ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เคยอ้างว่า ระยะเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภา จำนวน 900 วัน  นับแต่วันที่ได้รับการส่งมอบพื้นที่ 100% ซึ่งสภาได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทซิโน-ไทย ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 จึงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดถึงต้องต่อขยายสัญญา และไม่ยอมจ่ายค่าปรับ 

 “วิลาศ” จี้สอบทุจริต ยืดสัญญาสภาใหม่รอบ4

นายวิลาศ ยังกล่าวถึงสาเหตุที่ผู้รับเหมาใช้อ้างเพื่อขยายการต่อสัญญา อาทิ มีการเข้าใช้พื้นที่ห้องประชุมพระจันทรา และห้องประชุมกรรมาธิการ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง ทั้งที่สัญญาก่อนหน้านี้ เคยระบุว่า การเข้าใช้พื้นที่ก่อนจะใช้นำมาเป็นเหตุในการขยายสัญญาไม่ได้ หรือถ้ามีอุปสรรคในการทำงาน ผู้รับเหมาต้องแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบ ภายใน 15 วัน ซึ่งก็ไม่มีการแจ้งใด ๆ 

นายวิลาศ ระบุด้วยว่า หากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะขยายสัญญาการก่อสร้างต่อเป็นครั้งที่ 4 ก็จะไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ต่อไป เพราะการขยายเวลาหลายครั้งที่ผ่านมานั้นมิชอบ เมื่อมีการส่งมอบพื้นที่ครบ 100% แล้วการก่อสร้างควรจะแล้วเสร็จ 900 วัน ตามที่นายอนุทิน เคยยืนยัน 

 

นอกจากนั้น ยังพบว่า การต่อขยายสัญญา ยังมีข้าราชการการตรวจสอบการจ้าง และบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้าง ได้รับผลตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยมีหลักฐานที่เป็นเอกสารราชการทั้งหมด 

“ควรเริ่มปรับค่าเสียหายแก่บริษัทผู้รับเหมาวันละประมาณ 12 ล้านบาทได้แล้ว และควรตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อีกคดีหนึ่ง ฐานขยายสัญญาโดยอ้างหลักฐานเท็จ”

 “วิลาศ” จี้สอบทุจริต ยืดสัญญาสภาใหม่รอบ4

นายวิลาศ ย้ำว่า สภาใหม่เป็นโครงการที่เละเทะที่สุด เพราะมีคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้าง และคณะที่ปรึกษา ควบคุมงานก่อสร้างหลายชุด ทั้งบุคคลภายนอก และข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และยังได้รับประโยชน์ทางราชการตอบแทนด้วย ทั้งเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม และตำแหน่ง