ปชป.จี้ปรับผู้รับเหมา เบรกยืดเวลาสร้างสภาใหม่รอบ 4

07 ธ.ค. 2562 | 03:00 น.

“วัชระ” ยื่น “ชวน” เบรกต่อสัญญาสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ครั้งที่ 4 อีก 382 วัน พร้อมให้ตรวจสอบเอาผิดเลขาธิการสภาฯ ส่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้รับเหมา ทั้งที่การส่งมอบพื้นที่จบลงแล้ว “วิลาศ” จี้ปรับค่าก่อสร้างช้าวันละ 12 ล้านบาท เพื่อเร่งให้รีบก่อสร้าง

โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย ที่คาราคาซัง ก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และมีความพยายามขอขยายเวลาการก่อสร้างออกไปอีกเป็นครั้งที่ 4 ของบริษัทผู้รับเหมา ได้รับการต่อต้านจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส..บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีการต่อสัญญาสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ รอบที่ 4 ที่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง

ทั้งนี้การขยายสัญญาก่อสร้างรอบที่ 3 ช่วงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561-15 ธันวาคม 2562 เข้าใจว่าเป็นเพราะการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า แต่ล่าสุดปัญหาการส่งมอบพื้นที่สิ้นสุดแล้ว ดังนั้น การต่อสัญญารอบที่ 4 ที่ทราบว่าจะเพิ่มเวลา 382 วัน จากเดิมที่ผู้รับเหมาเสนอขอ 502 วันนั้น อาจจะขัดต่อสัญญาได้ จึงขอให้นายชวน ตรวจสอบ และระงับการขยายสัญญารอบที่ 4 ไปก่อน

นายวัชระ กล่าวว่า กลุ่มงานพัสดุได้มีความเห็นแล้วว่าให้ระงับการขยายเวลาการก่อสร้าง โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักการคิดในการขยายเวลาการก่อสร้างให้กับผู้รับจ้างว่า เมื่อพิจารณาตามสัญญาจ้างก่อสร้างเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 ผนวก 16 การประสานงานระหว่างผู้รับจ้างหลักและผู้รับจ้างอื่น ผู้รับจ้างไม่สามารถยกเอาเหตุที่ผู้รับจ้างรายอื่นๆ รายใดรายหนึ่ง หรือหลายรายทำงานล่าช้า ขึ้นเป็นข้ออ้าง เพื่อขอขยายเวลาทำงานอีกไม่ได้

ปชป.จี้ปรับผู้รับเหมา เบรกยืดเวลาสร้างสภาใหม่รอบ 4


 

นอกจากนี้ กลุ่มงานพัสดุ สำนักการคลังและงบประมาณ เคยมีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 ถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีงบประมาณ ICT จำนวน 8,648 ล้านบาท ว่าหากจะประมูลให้ใช้วิธีเชิญชวนทั่วไป ไม่ใช้วิธีคัดเลือกด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นการให้ความเห็นที่ถูกต้องตามระเบียบการเงินการคลัง และรักษาผลประโยชน์ของชาติไม่ต้องเสียงบประมาณ 8,648 ล้านบาทมาแล้ว ความเห็นของกลุ่มงานพัสดุจึงชอบด้วยกฎหมายหลักนิติรัฐนิติธรรม ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติย่อมเชื่อถือได้

ด้านนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ..กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งข้อสังเกตอย่างดุเดือดว่า เป็นโครงการที่เละเทะที่สุดของประเทศไทย ไม่เคยเห็นโครงการไหนจะขยายสัญญามากกว่าสัญญาหลัก ซึ่งไม่ควรเกิน 900 วัน แต่ต่อสัญญาออกมาแล้ว 3 ครั้ง รวมระยะเวลาต่อสัญญาไปแล้ว 1,482 วัน ยังจะต่อสัญญารอบที่ 4 ที่จะเพิ่มเวลาให้ 382 วัน จากเดิมที่ผู้รับเหมาเสนอขอ 502 วัน

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยพูดไว้ในงานเสวนาเรื่องการตรวจสอบปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ กรณี ไอที-รัฐสภาแห่งใหม่ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือ พิมพ์แห่งประเทศไทยว่า การขอขยายระยะเวลาก่อสร้างนั้น สาเหตุเกิดจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ซึ่งการขยายสัญญา 900 วันนั้น ให้นับจากวันที่ส่งมอบพื้นที่ครบ ซึ่งก็คือ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ดังนั้น ตามหลักการควรเริ่มปรับได้แล้วเพื่อเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ถ้าไม่มีมาตรการจริงๆ จังๆ อะไรออกมา มันจะไม่จบ ก็ไม่รู้ว่า จะขอขยายเวลาออกไปอีกกี่ครั้ง จึงอยากขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตรวจสอบ และระงับการขยายสัญญารอบที่ 4 ออกไปก่อน วันนี้ต้องใช้มาตรการปรับแล้ว เพราะเหตุผลที่ใช้อ้าง ไม่สมเหตุสมผล เคยอ้างว่าเนื่องจากระบบไอซีทีช้าซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะมีการแยกสัญญากันอยู่แล้ว แต่ก็ได้ขยายเวลาออกมาเป็นรอบที่ 3 งานก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 69.8% ถามว่า ถ้าใช้วิธีการเดิมโดยไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ เหลือ 30% ก็ให้ขยายเวลาออกไปอีก 382 วัน

พูดกันแบบตรงไปตรงมา วันนั้นถ้าเอาค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท ไปจ่ายค่าเช่าห้องประชุมทีโอทีเดือนละ 14 ล้านบาทจะคุ้มกว่าหรือไม่ ผมเห็นว่าวันนี้คงต้องปรับเพื่อเป็นตัวเร่ง ให้รีบดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ไม่ปรับไม่ได้ ซึ่งผมก็เชื่อว่า ซิโน-ไทย (บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)) เห็นแก่ประเทศก็คงไม่ขัดข้อง ทุกวันนี้ไม่ปรับ เวลาล่วงเลยมาเกือบ 2 เท่า จะ 3 เท่าของสัญญาหลักแล้วยังไม่เสร็จเลยนายวิลาศ ระบุ

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562

ปชป.จี้ปรับผู้รับเหมา เบรกยืดเวลาสร้างสภาใหม่รอบ 4