เปิดเทปลับถก 3 สารพิษ 4 ชั่วโมง“สธ.-อย.”หนุนขยายเวลา

04 ธ.ค. 2562 | 11:37 น.

 

กรณีที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกมาระบุว่า คณะกรรมการมีมติยืดระยะเวลาการยกเลิกการใช้ 2 สาร คือ “พาราควอต” และ “คลอไพริฟอส” ออกไปอีก 6 เดือน และเลิกแบน แต่ให้มีการจำกัดการใช้ “ไกลโฟเซต”   

“ฐานเศรษฐกิจ” ถอดเทปลับการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องประชุม อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มานำเสนอ ไปดูกันว่า “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” คุยอะไรกันบ้าง

                                                       ++++++

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ... กระบวนการทั้งหมดถ้าทําภายในวันที่ 1 ธันวา ทําไม่ทันแน่นอน ให้ กรมวิชาการเกษตร จัดการ 3 อย่าง คือ 1.ให้จัดการร่างประกาศ 2.ให้รับฟังความคิดเห็น และ 3.จัดการกับสินค้าคงเหลือที่มีปริมาณกว่า 30,000 ตัน ให้เผาทําลายวันละ 50 ตันเป็นการยาก ให้ขายหรือการส่งออกแทน แต่ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องและการค้าระหว่างประเทศจะกระทบภาพใหญ่ อยากให้คณะกรรมการได้มีเวลาเพื่อแก้ไข

ประธาน... มีใครมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไร ?

ผู้ทรงคุณวุฒิจิราพร... เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เพิ่งเกิดแต่เกิดมานานแล้ว ข้อมูลจากกรรมาธิการ มี Annex B ข้อ 6 พูดไว้ว่า สามารถยกเว้นได้ ข้อมูลจากออสเตรเลียก็ยินดีทําตามข้อกําหนดของไทย อยู่ที่ว่า เราจะกําหนดค่าสารตกค้างเท่าไหร่ คิดว่า ข้อกังวลของ WTO และอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่น่ากังวล เราน่าจะกําหนดนโยบายได้อย่างอิสระ เราจะกําหนดเรื่องสุขภาพเป็นประเด็นสําคัญหรือไม่  

ประธาน... การแบน 3 สาร กําหนดค่า MRL ก็ต้องเป็นศูนย์ด้วย กรมวิชาการเกษตรให้ความเห็นว่า ควรเลื่อนออกไป เพราะถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้ชดเชยให้ วงเงิน 20,000 ล้านจะนํามาจากไหน ประเด็นเรื่องสุขภาพเป็นประเด็นสําคัญ แต่ต้องดูให้รอบคอบว่า ส่งผลกระทบขนาดไหน ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐ ให้ใช้ “ไกลโฟเซต” ได้ ก็คงพิจารณามาแล้วว่า ส่งผลกระทบต่อประชาชนของตัวเองขนาดไหน

ผู้ทรงคุณวุฒิภักดี... มติของการแบนยังคงต้องมีอยู่ซึ่งมีความเสียหายควรขยายเวลา แต่ยังไม่เห็นมาตรการจากกรมวิชาการเกษตรเป็นลายลักษณ์อักษร ทําให้คณะกรรมการไม่สามารถพิจารณาระยะเวลาในการแก้ไขผลกระทบได้ อยากให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอเข้ามาให้ชัดเจนว่า ต้องการใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการ บริหารจัดการ

ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข... เห็นด้วยกับท่านภักดี ควรมีการกําหนดเวลาที่แน่นอน

 

***ลึกลับ 'แบน3สารพิษ' 'สธ.-อย.-ผู้ทรงคุณวุฒิ' หนุนยืดเวลา

ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรี... ย้อนไปที่มติจํากัดการใช้ หรือ เรียกว่า Partially Ban อนุญาตให้ใช้แค่ 6 พืช กระทรวงเกษตรฯออกประกาศ 5 ฉบับ มาเพื่อควบคุมอยู่แล้ว แล้วกรมวิชาการเกษตร ขอใช้มาตรการจํากัดการใช้ในระยะเวลา 2 ปี จะติดตามและรายงานผล ให้คณะกรรมการฯทราบความคืบหน้าเป็นระยะ ขณะเดียวกันก็หาสารทดแทนที่คุณสมบัติ ประสิทธิภาพและราคาที่เหมาะสม หากในเวลา 2 ปี การจํากัดการใช้แล้วไม่ได้ผลจึงมาดูในเรื่องของการแบน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่กํากับดูแลก็ดําเนินการอยู่ แต่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา กลับมีมติแบน ทั้งที่เพิ่งจะมีมาตรการจํากัดการใช้ได้เพียง 2 วัน มติสามารถเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะไม่กลับมติก็ได้แต่อยากให้ชะลอการประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จนกว่าจะสามารถหาสารทดแทนได้ และดําเนินการหามาตรการลดผลกระทบในทุกภาคส่วน ในกรณีค่า MRL ที่ทาง NGO เสนอให้แก้ไขเหลือที่ 5 ppm นั้น ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเราพยายามลดผลกระทบทางสุขภาพต่อเกษตรกรแต่กลายเป็นว่า ผลักภาระให้ผู้บริโภคแทน

เลขาธิการ อย. ... ขอยืนมติตามวันที่ 22 ตุลาคม เรื่องที่สอง คือ ตาม พ.ร.บ.อาหาร ก็มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเช่นเดียวกันกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ต้องดูให้รอบด้าน

ประธาน... หากท่านยืนยันว่า จะแบน อยากให้ช่วยเสนอต่อที่ประชุมเรื่องวิธีในการจัดการสารที่มีการครอบครองอยู่จะใช้เงินส่วนไหน

เลขาธิการ อย. ... ตามมติวันที่ 22 ตุลาให้กรมวิชาการเกษตรไปดูเรื่องมาตรการลดผลกระทบ

ประธาน... ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรยังไม่มีมาตรการออกมาจึงเป็นเหตุผลที่ต้องเลื่อนเพราะจะเกิดผลกระทบ

ผู้ทรงคุณวุฒิจิราพร... ถ้ายังไม่สามารถกําหนดประกาศเป็นวันที่ 1 ธันวาคมได้ ก็ให้กรมวิชาการเกษตรระบุใหม่เลยว่า เป็นวันที่เท่าไหร่

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ.... ในความคิดเห็น คือ หลักฐานทางวิชาการ ทั้งสองฝ่ายยังไม่ชัดเจน ถ้าให้เสนอคือ ตามมติจํากัดการใช้ที่กําหนดระยะเวลา 2 ปีและได้เป็นการทดสอบระบบด้วย

ผู้ทรงคุณวุฒิสุทธิเวช.... เห็นด้วยกับประธานที่ให้เลื่อนไปก่อนเพราะกรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้เสนอมาตรการให้ทราบ หากสารตัวที่มีผลกระทบน้อย เช่น คลอร์ไพริฟอส ก็สามารถบังคับใช้ได้เลย แต่หากสารใดมีผลกระทบมากก็ต้องมีมาตรการเสียก่อน

ผู้ทรงคุณวุฒิชุติมา.... สนับสนุนแนวคิดของท่านปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไม่เห็นด้วยกับการลงมติในวันที่ 22 ตุลาคม เพราะไม่มีข้อมูลใหม่และไม่เป็นไปตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี

ผู้ทรงคุณวุฒิศุภวรรณ.... สิ่งที่กรมวิชาการเกษตรกําลังทําอยู่ เช่น การหยุดการนําเข้าเป็นไปตาม เจตนารมณ์ที่จะเลิกใช้อยู่แล้วแต่สารที่ตกค้างอยู่ในระบบจํานวน 30,000 ตันเป็นปัญหา หากจะเผาทิ้งจะเป็น การสูญเสียมาก มาตรการจํากัดการใช้จําเป็นต้องใช้เวลา ต้องมีการวิจัย ให้หลายภาคส่วนได้มีส่วนร่วม

ผู้ทรงคุณวุฒิเจริญชัย.... มาตรการรองรับยังไม่มีและกําลังจะมีผลกระทบในวงกว้าง ต้องรอบคอบในการพิจารณา

ประธาน.... ให้กระทรวงเกษตรฯเป็นผู้เสนอมาตรการและใช้เวลาเท่าไหร่

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ.... ที่เคยเสนอ คือ มาตรการจํากัดการใช้และใช้เวลา 2 ปี อย่างน้อยขอเวลาในการดําเนินการจํากัดการใช้ 1 ปี

ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข... อยากให้เสนอต่อที่ประชุมว่า มีการจัดการและระยะเวลาที่ เหมาะสมอย่างไร

ประธาน... ระยะเวลาคงจะไม่ใช่วันที่ 1 ธันวาเพราะมาตรการคงจัดทําไม่ทัน ถ้าเสนอเป็น 6 เดือน คิดว่าเป็นอย่างไร

ผู้ทรงคุณวุฒิชุติมา...ในฐานะนักวิจัย 6 เดือนคงไม่ทัน 2 ปียังไม่รู้ว่า จะทันหรือไม่ เพราะมีปัจจัยมาก ไม่เช่นนั้นผลที่ได้ก็คลาดเคลื่อนอีก

ผู้ทรงคุณวุฒิจิราพร.... ในกระทรวงเกษตรฯควรกําหนดนโยบายให้ชัดเจนว่า จะเน้นใช้สารเคมี หรือเกษตรอินทรีย์ เห็นควรว่า ต้องสรุปมติให้ได้วันนี้เพื่อให้เกษตรกรรมในประเทศมีความชัดเจน

ผู้แทนอธิบดีกรมปศุสัตว์....ในเอกสารมีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 75% พอจะเป็นประเด็นในการพิจารณาได้หรือไม่ ?

ผู้แทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ... เห็นควรยกเลิกใช้ 3 สารนี้แต่ควรมีระยะเวลาในการจัดการเพื่อที่รัฐจะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณในการกําจัด

ประธาน....ในที่ประชุมค่อนข้างเห็นด้วยที่จะเลื่อนออกไปก่อน แต่จะสรุปมติอย่างไรดี ?  

ผู้ทรงคุณวุฒิจิราพรคณะกรรมการฯ เป็นผู้กําหนดนโยบาย ดังนั้น ควรมีความชัดเจนและชัดเจนในการออกประกาศเพื่อให้เกิดการปรับตัวในการแก้ปัญหา คิดว่า 3 เดือนน่าจะเพียงพอ หรือจะเป็นตัวเลขอื่นก็ให้ที่ประชุมเสนอมา

ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรี 3 เดือนไม่น่าจะทําได้ ไม่มีผลสัมฤทธิ์ หากมีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ที่จะมาใช้ทดแทนจะทราบได้อย่างไรว่า ไม่มีสารสามตัวนี้ผสมอยู่ หากมีการแบนสารสามตัวนี้ก็ควรแบน “กลูโฟสิเนท” หรือสารเคมีทดแทนอื่นที่อันตรายมากกว่าเพื่อความเท่าเทียม

ผู้ทรงคุณวุฒิภักดี ควรพิจารณาวาระนี้บนพื้นฐานของมติคราวที่แล้วเพราะไม่มีข้อมูลอื่นเพิ่มเติมแต่คงไม่ใช่ภายในวันที่ 1 ธันวาคม คิดว่า 6 เดือนน่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม

                                                                    เปิดเทปลับถก 3 สารพิษ 4 ชั่วโมง“สธ.-อย.”หนุนขยายเวลา

ประธาน…เราสามารถดูประเทศอื่นๆที่มีการแบนไปแล้วได้หรือไม่ ?

ผู้แทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร.จริงๆแล้วกรมวิชาการเกษตรที่มีข้อมูล อย่าง “ไกลโฟเซต” มีการแบนเพียง 9 ประเทศ 161 ประเทศยังไม่แบน ประเทศที่มีการแบน “ไกลโฟเซต” ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทะเลทราย “พาราควอต” มีประเทศที่ใช้อยู่ 80 ประเทศ 53 ประเทศที่ยกเลิกการใช้ “คลอร์ไพริฟอส” มีการใช้อยู่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ซึ่ง “คลอร์ไพริฟอส” ใช้ในการป้องกันหนอนเจาะทุเรียนซึ่งยังไม่มีสารทดแทนโดยทุเรียนก็มีการส่งออกไปประเทศจีนถึง 15,000 ล้านบาท ก็เกรงว่า จะมีปัญหาเรื่องการค้าตามมา มาตรการก็มีอยู่แต่ไม่สามารถพูดได้เพราะค่อนข้างสับสน เนื่องจากเคยมีมติจํากัดการใช้ และจํากัดการนําเข้า และขณะนี้ก็ยังไม่มีสารทดแทนเพราะต้องใช้เวลาในการวิจัย ขณะนี้จึงดําเนินมาตรการจํากัดการใช้อยู่ โดยมีสต็อกทั้งหมดประมาณ 23,000 ตันค่าใช้จ่ายในการทําลายประมาณตันละ 100,000 บาท

ประธาน... ขอตัวเลขมูลค่าสต็อกที่ชัดเจนยังไม่ต้องคิดถึงค่าทําลายเพราะหากขายออกก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ผู้แทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร... 23,000 ตัน ยังไม่รวมกับที่เกษตรกรอีกประมาณ 8,000 ตัน รวมมูลค่าทั้งหมด 2,241 ล้านบาท

ประธาน....ขอเอกสาร stock ของ 3 สารจากกรมวิชาการเกษตร (ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แจกให้ที่ประชุม) และกล่าวว่า มีผู้เสนอให้ออกประกาศโดยให้มีผลบังคับใช้อีก 3 เดือน หรือ 6 เดือน เนื่องจาก “ไกลโฟเซต” มีผลกระทบหลายด้าน และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องจะมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนการแบนหรือไม่ ?  

ผู้ทรงคุณวุฒิจิราพร…กล่าวว่า มีข้อมูลทั้งในรายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ที่ท่านภักดีเป็น ประธาน และในรายงานของคณะกรรมาธิการซึ่งมีรายงานว่า เป็นสารก่อมะเร็ง มีผลตกค้างในสิ่งแวดล้อม มีผลต่อเด็ก

ประธาน... เห็นว่า การยกเลิกควรต้องมีกรอบเวลา ต้องดูให้ครบทุกมิติ ทั้งในเรื่องสุขภาพและเรื่องอื่นๆ พิจารณาภาพรวม ทั้งผลดีและผลเสีย ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันและจําเป็นต้องโหวต ก็ต้องโหวตแบบเปิดเผย

 

                                                                          เปิดเทปลับถก 3 สารพิษ 4 ชั่วโมง“สธ.-อย.”หนุนขยายเวลา

ผู้ทรงคุณวุฒิสุทธิเวช....ให้ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงในสหรัฐอเมริกา โดย EPA ซึ่ง LD50 oral ของไกลโฟเซต มีค่ามากกว่า 5,000  mg/kg และอันตรายจากการเป็นสารก่อมะเร็ง ประเภท 28 คือ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ก่อให้เกิดมะเร็งและสหรัฐอเมริกาให้ใช้ เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการควบคุมและให้ความรู้ ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างถูกต้อง และ “ไกลโฟเซต” เป็นของแข็ง ไม่มีการระเหยจึงไม่มีการแพร่กระจายในอากาศ จัดว่า มีความเป็นพิษต่ำถ้าไม่มีการสัมผัสโดยตรงและยังมีประโยชน์ จึงอยากเสนอให้ กรมวิชาการเกษตร ไปศึกษาเรื่องสารทดแทนและนํามาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

ประธาน...สอบถามจํานวนประเทศที่ห้ามใช้ “ไกลโฟเซต” ซึ่งผู้แทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแจ้งว่า มี 161 ประเทศที่ให้ใช้ และมี 9 ประเทศที่ห้ามใช้  

ผู้ทรงคุณวุฒิศุภวรรณ.... เห็นว่าการนําไปใช้ในแต่ละประเทศแตกต่างกัน การใช้ความรู้และการบริหารจัดการเป็นเรื่องสําคัญ และการให้ความรู้ที่กระทรวงเกษตรฯ กําลังทําเพื่อจะขยายให้เป็นการบริหารจัดการในระดับประเทศเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ....ให้ข้อมูลว่า ในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และการประเมิน JMPR ยืนยันว่า ไม่อันตรายต่อมนุษย์และขอเวลาอีก 1 ปีเพื่อทดลองใช้มาตรการที่จํากัดการใช้และจะประเมินผลเพื่อทําระบบให้ชัดเจน

ผู้ทรงคุณวุฒิภักดี... เสนอให้ออกประกาศปรับ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แต่ให้มีระยะเวลาในการบริหารจัดการ 6 เดือน ส่วน “ไกลโฟเซต” ได้ทบทวนแล้วและเห็นว่า ไม่สมควรประกาศเป็นชนิดที่ 4 จึงให้ยังคงใช้มาตรการจํากัดการใช้ โดยเสนอให้ขอมติที่ประชุมตามแนวทางดังกล่าว

ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข... เสนอให้ยังคงมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 แต่อยากให้ กรมวิชาการเกษตร เสนอระยะเวลาการจัดการสารแต่ละรายการมาให้ชัดเจน

ประธาน...สอบถามเหตุผลที่จะประกาศให้ “ไกลโฟเซต” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

 ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข....ให้ข้อมูลตามเอกสารการประชุมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และคําตัดสินของศาลสหรัฐอเมริกาที่ให้ชดใช้ให้ผู้ป่วยมะเร็ง

ประธาน...ขอให้ที่ประชุมพิจารณาข้อมูลที่ได้รับและวินิจฉัยว่า ควรจะมีมติอย่างไร ?

ผู้ทรงคุณวุฒิภักดี….เห็นว่ามติเมื่อการประชุมในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มาจากการที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ คณะกรรมการฯไม่ได้เป็นผู้เสนอให้นํามติเดิมมาทบทวน และที่ประชุมมีการพิจารณาตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ เป็นการพิจารณาอย่างเปิดเผย การประชุมวันนี้มีข้อมูลผลการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ปัญหาในการบริหารจัดการของกรมวิชาการเกษตร และได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจึงปรับมติเพื่อให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด

ประธาน....ขอให้พิมพ์มติขึ้นจอเพื่อให้ชัดเจน

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (อรอ.) ....ขออนุญาตให้ ผอ.สมชัย (ฝ่ายกฎหมาย) เป็นผู้เสนอมติเพื่อให้ชัดเจน

ผอ.สมชัย... ในมุมมองของกฎหมาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหนังสือที่ กษ 0900/536 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 เสนอ 3 ข้อ คือ ขอให้ประกาศควบคุม “พาราควอต”, “คลอร์ไพริฟอส” และ “ไกลโฟเซต” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 และให้นําเข้าคณะกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีมติซึ่งมติมีองค์ประกอบ 3 ข้อ ตามมาตรา 18 วรรคสอง คือ เห็นชอบให้ประกาศทั้ง 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และมอบกรมวิชาการเกษตรไปยกร่างประกาศฯ และรับฟังความคิดเห็น โดยมีเงื่อนไขว่า กรมวิชาการเกษตรต้องเสนอข้อมูลระยะเวลาการบริหารจัดการโดยคํานึงถึงผลกระทบด้วย  

กระบวนการแบนต้องมีมติ 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ มติให้แบน ครั้งที่ 2 เห็นชอบกับร่างประกาศฯ แต่การประชุมครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรมีข้อมูลในส่วนการบริหารจัดการ ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะดําเนินการตามมติเดิมได้จึงต้องปรับปรุงแก้ไข การพิจารณาก็พิจารณาไปทีละองค์ประกอบ คือ 1.แบนทั้ง 3 สารพร้อมกัน ขอปรับเป็น แบน 2 สาร อีก 1 สารใช้จํากัดการใช้ องค์ประกอบที่ 2 ระยะเวลาการแบน เลื่อนออกเป็น 6 เดือน องค์ประกอบที่ 3 คือ กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเหมือนเดิม

อรอ....กล่าวสรุปว่า การประชุมวันที่ 22 ตุลาคม 2562 เป็นการนําเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอขอให้ประกาศ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และคณะกรรมการฯ มีการลงมติให้ออกประกาศ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยมอบหมายกรมวิชาการเกษตรไปศึกษามาตรการจัดการสารที่คงเหลือมานําเสนอคณะกรรมการฯ แต่ในวันนี้ยังไม่มีการนําเสนอมาตรการ ถ้าคณะกรรมการฯ มีมติเหมือนเดิมก็ไม่น่าจะถูกต้อง จึงมีมติใหม่ให้แบน 2 สาร คือ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” โดยขยายเวลาออกไป 6 เดือน ส่วน “ไกลโฟเซต” ให้ใช้มาตรการจํากัดการใช้

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ.... กล่าวว่า การที่กําหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562ได้ไปเตรียมการแล้ว แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อเกษตรกรและรัฐต้องใช้เงินเป็นจํานวนมากในการแก้ปัญหา และยังมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรม จึงเสนอขอใช้มาตรการจํากัดการใช้เช่นเดิมแต่ขอลดเวลาที่จะมาพิจารณาทบทวนจากเดิมกําหนดไว้ 2 ปี เป็น 1 ปี

ประธาน....สอบถามที่ประชุมว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ที่ประชุมยังต้องการ ให้แบนทั้ง 3 สารหรือไม่ ?

ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข…. ในการประชุมวันที่ 22 ตุลาคม 2562 กระทรวงเกษตรฯไม่มีการชี้แจงว่า ทําไม่ได้ และไม่ได้บอกระยะเวลาที่จะดําเนินการได้ ซึ่งถ้าบอกที่ประชุมก็คงไม่ขัดข้อง และตนยังยืนยันตามมติเดิม ให้กระทรวงเกษตรฯ เสนอร่างประกาศ พร้อมทั้งระยะเวลาที่ต้องใช้ในการบริหารจัดการ แล้วที่ประชุมค่อยพิจารณาอีกครั้งจะดีหรือไม่ ?  

อรอ. ….ตามที่ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่มีการ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรมาเสนอมาตรการแต่วันนี้กรมวิชาการเกษตรไม่มีมาตรการมาเสนอ ถ้าจะเสนอประกาศโดยไม่มีมาตรการก็ไม่น่าจะดําเนินการได้ และเห็นว่า การมีมติดังกล่าวน่าจะเป็นแนวทางที่ดี

ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ขอให้ฝ่ายเลขานุการช่วยพิมพ์) โดยข้อ 1 ให้คงมติเดิม ข้อ 2 ไม่สามารถพิจารณาออกประกาศได้ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯไม่มีมาตรการจัดการ และขอให้กระทรวงเกษตรฯไปดําเนินการโดยเร็ว ส่วนจะใช้เวลาเท่าไรก็ให้นําเสนอมาพร้อมร่างประกาศและผลการรับฟังความเห็นโดยเร็วที่สุด

 

                                         เปิดเทปลับถก 3 สารพิษ 4 ชั่วโมง“สธ.-อย.”หนุนขยายเวลา

ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ช่วยปรับมติ)  เท่าที่ดูแล้วก็ไม่ขัดแย้งอะไร แต่เกรงว่าจะไปพิจารณาผลกระทบเรื่องเงินๆทองๆ อย่างเดียว จึงขอให้เพิ่มข้อความ “ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย”

ผู้ทรงคุณวุฒิจิราพร.เห็นด้วยกับร่างมติเดิมทั้ง 2 ข้อ (ร่างมติเดิม คือ ให้แบนทั้ง 3 สารแต่ออกประกาศกําหนดให้มีผลบังคับใช้ถัดไปอีก 6 เดือน)

ประธาน….ช่วยร่างมติให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายจะได้ไม่ต้องโหวต

ผู้ทรงคุณวุฒิจิราพร…ขอปรับมติที่ฝ่ายเลขานุการกําลังยกร่าง

 ประธาน....เขียนให้จนจบ แล้วเดี๋ยวจะปรับแก้อะไร แล้วในที่ประชุมค่อยมาดูกันเพื่อให้มีตุ๊กตาออกมาก่อน

(ช่วงร่างมติที่ประชุม ใช้เวลา 20 นาที)

ประธาน....กล่าวว่า ได้ร่างมติที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ขอเชิญคณะกรรมการแสดงความเห็น

ผู้ทรงคุณวุฒิสุทธิเวช ....กล่าวว่า การขยายเวลาเพื่อให้กรมวิชาการเกษตรหามาตรการรองรับเกี่ยวกับสารทดแทนได้ ไม่ได้เป็นการห้ามใช้เพราะในอนาคต คือ ห้ามใช้อยู่แล้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรี....สอบถามว่า ข้อ 1 ให้ประกาศแบน ข้อ 2 ให้หาสารทดแทน ถ้าหากหาสารทดแทนไม่ได้ ข้อ 1 จะเป็นอย่างไร ?

ผู้ทรงคุณวุฒิสุทธิเวช… เข้าใจว่า ที่ต้องกําหนดระยะเวลาเพื่อเร่งรัดเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยด่วน

ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรี…สอบถามว่า ท่านปลัดกระทรวงเกษตรฯ ขอใช้มาตรการจํากัดการใช้ทั้งสามสารเป็นเวลา 1 ปี ถูกต้องหรือไม่ ? ถ้าประกาศเป็นชนิดที่ 4 แล้วทําไม่ทันจะเป็นอย่างไร ?

 ท่านประธานกล่าวว่า ถ้ามอบกระทรวงเกษตรฯ แล้วทําไม่ได้ ก็ให้นําเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากในตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 ผู้ทรงคุณวุฒิภักดี...กล่าวว่าสนับสนุนท่านประธานเพราะคิดว่า ระยะเวลา 6 เดือนน่าจะเหมาะสมแล้ว หากตั้งใจทํากันจริงๆก็น่าจะทําได้ ควรมีระยะเวลาที่ชัดเจน

 ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข... กล่าวว่า สนับสนุนท่านประธาน

 ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรี... สอบถามว่าในข้อที่ 1 ให้ออกประกาศเลย ว่าเป็นชนิดที่ 4 แล้วถ้าหากกระทรวงเกษตรฯจัดทํามาตรการไม่ได้จะเป็นอย่างไร ?

 ท่านประธาน…กล่าวว่า เวลา 6 เดือน หากไม่ได้ ก็นํากลับมาพิจารณาอีกครั้ง

 ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรี…สอบถามว่า ทําไมไม่รอเวลา 6 เดือนก่อน

 ท่านประธาน…กล่าวว่า เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดการจัดทํามาตรการ

 ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เห็นด้วยกับท่านประธาน

 ผู้แทนอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน…ให้ข้อสังเกตว่า กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้เสนอประกาศ ดังนั้น ต้องเป็นผู้ขอถอนเอง

ช่วงปรับแก้ร่างมติที่ประชุม.... คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาข้อเสนอของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว จึงมีมติดังนี้

1.ให้ออกประกาศกําหนดวัตถุอันตราย “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กําหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 สําหรับวัตถุอันตราย “ไกลโฟเซต” ให้ใช้มาตรการจํากัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

2.มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดําเนินการจัดทํามาตรการรองรับในการหาสารทดแทนหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสําหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นําเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่มีมติ

 ประธาน....สอบถามผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าเห็นด้วยหรือไม่ โดยท่านผู้แทนฯตอบว่า เห็นด้วยในเนื้อหาแต่ส่วนระยะเวลาขอให้ปรับเป็น “ภายในวันที่ 1 มิถุนายน”  

 ประธาน...ถ้าที่ประชุมรับได้ผมก็...

 ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรี...ถ้ามติเป็นแบบนี้ ขออนุญาตไม่เห็นด้วยตามข้อ 1 แต่เห็นด้วยตามข้อ 2 และขอให้ฝ่ายเลขาบันทึกไว้ด้วย

ประธาน.. และมีใครเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ?

ผู้ทรงคุณวุฒิชุติมา…เห็นด้วยตามข้อ 2 แต่ไม่เห็นด้วยตามข้อ 1

ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรี…ข้อ 2 ต้องเกิดก่อนข้อ 1

 อรอ. ผู้ทรงคุณวุฒิสมศรีและผู้ทรงคุณวุฒิชุติมา… เห็นด้วยตามข้อ 2 แต่ไม่เห็นด้วยตามข้อ 1 ผู้ทรงคุณวุฒิศุภวรรณ…ไม่เห็นด้วยตามระยะเวลาตามข้อ 1 คิดว่า น้อยไป

อรอท่านศุภวรรณไม่เห็นด้วยตามระยะเวลาในข้อ 1 เพราะเห็นว่า ระยะเวลาน้อยไป

 ผู้ทรงคุณวุฒิเจริญชัย…เห็นว่า ระยะเวลาน้อยไป ควรให้เวลามากกว่านี้ เกรงว่า ถ้าทําไม่ได้ หากเลื่อนไปเลื่อนมาจะดูไม่สวย ผู้ที่ตอบคําถามนี้ได้ควรเป็นกรมวิชาการเกษตรซึ่งขอระยะเวลามา 1 ปี

 ผู้แทนอธิบดีกรมปศุสัตว์….ส่วนตัวเห็นฝ่ายกฎหมายให้ข้อสังเกตว่า ควรมีข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรก่อนว่าจะสามารถแก้ไขผลกระทบภายใน 6 เดือนได้หรือไม่ แล้วจึงมากําหนดระยะเวลาในข้อ 1

 ประธาน…ให้จดมติที่ประชุมและข้อสังเกตออกมา

 อรอ….สรุปมติตามนี้นะครับ ที่ประชุมเห็นด้วยตามนี้นะครับโดยมีข้อสังเกตของคณะกรรมการบางท่านครับและให้ผู้ช่วยเลขาบันทึกแล้วครับ