รฟม.แจง เบื้องหน้าเบื้องหลัง รถไฟฟ้าสายสีส้ม

20 พ.ย. 2562 | 05:36 น.

รฟม.แจงเบื้องหน้าเบื้องหลัง รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ยัน“ศักดิ์สยาม”ไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ รฟม. รื้อรูปแบบการลงทุนโครงการฯ

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  

      นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ทำหนังสือถึง นายบากบั่น บุญเลิศ ผู้ดำเนินรายการเนชั่นสุดสัปดาห์ ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ชี้แจงเบื้องหน้าเบื้องหลังของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระบุว่า 


 
       ตามที่ รายการเนชั่นสุดสัปดาห์ ของเนชั่นทีวี ช่อง 22  ซึ่งออกอากาศไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562  ได้มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีที่  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)  พิจารณาทบทวนรูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี(สุวินทวงศ์)  จากการให้เอกชนรวมลงทุนโครงการ (Public-Private Partnership: PPP) ทั้งงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ส่วนตะวันตก  ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถตลอดเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและส่วนตะวันตก  เป็นรูปแบบให้รัฐเป็นผู้ลงทุนงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก  และให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถตลอดเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและส่วนตะวันตก  นั้น
 

       รฟม. ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

       1. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ รฟม. พิจารณาทบทวนรูปแบบการลงทุนโครงการฯ  ตามที่มีการนำเสนอข้อมูลในรายการเนชั่นสุดสัปดาห์

 

       2. การดำเนินการของ รฟม. เป็นไปตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ  เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในรูปแบบ PPP Net Cost  โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ส่วนตะวันตก  และเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ส่วนตะวันตก  และค่างานระบบรถไฟฟ้า  ขบวนรถไฟฟ้า  บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง  ซึ่งปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
 

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
       3. กรณีการพิจารณาทบทวนรูปแบบการลงทุนงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ส่วนตะวันตกจากเดิมที่เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนมาเป็นรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองนั้น  เป็นผลมาจากการที่กระทรวงการคลังซึ่งเคยมีข้อสังเกตว่า  การให้รัฐลงทุนงานโยธาจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่ากรณีให้เอกชนร่วมลงทุน  เนื่องจากเอกชนมีต้นทุนการชำระหนี้ที่สูงกว่ารัฐ  นอกจากนี้  การที่รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง  จะทำให้ รฟม.สามารถพิจารณาแบ่งงานโยธาออกเป็นหลายสัญญา  โดยมีมูลค่าแต่ละสัญญาไม่สูงมากนัก  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจในวงกว้าง  และสามารถเร่งรัดการก่อสร้างงานโยธาได้อย่างมีประสิทธิภาพและแล้วเสร็จได้ตามกำหนด

     

       4. จากการที่กระทรวงการคลังตั้งข้อสังเกตดังกล่าว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงให้ความเห็นว่า  เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ส่วนตะวันตก  เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนสูงจึงจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนรูปแบบการให้รัฐลงทุนงานโยธาเองอย่างรอบคอบในทุกมิติ  โดยคำนึงถึงประเด็นการก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะของประเทศในทันทีที่มีการเริ่มก่อสร้าง  ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาข้อพิพาทและการ  Interface ระหว่าง รฟม.  ผู้ก่อสร้างงานโยธา  และผู้รับสัมปทานที่เป็นผู้ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า  ตลอดจนความเสี่ยงในด้านการเงินหรือต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น  ซึ่งรัฐจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมด  เป็นต้น

     

       5. ต่อมาในระหว่างการพิจารณาทบทวนนั้น  กระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม  เมื่อวันที่  1  พฤศจิกายน  2562 ว่า  แม้การจัดหาเงินกู้โดยภาครัฐจะมีอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมต่ำกว่าภาคเอกชนแต่รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนงานโยธาส่วนตะวันตกด้วยนั้นมีความเหมาะสม  เนื่องจากรัฐยังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการอื่นตามนโยบายของรัฐบาลที่มีความสำคัญภายใต้แหล่งเงินที่จำกัดอยู่เพียงงบประมาณและเงินกู้ เช่น  ด้านการศึกษา  ด้านการเกษตร เป็นต้น  ประกอบกับกรณีรัฐเป็นผู้จัดหาเงินกู้เพื่อก่อสร้างงานโยธาจะเกิดภาระหนี้สาธารณะตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อสร้าง  ซึ่งจะกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  และอาจส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินการคลัง  ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศ
 

       6. รฟม. ขอเรียนชี้แจงว่า  การพิจารณารูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  เป็นไปตามการศึกษาพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ  และความเห็นของกระทรวงการคลัง  เป็นสำคัญ