ชงศาลรธน.ตีความคำสั่งเรียกของกมธ.

15 พ.ย. 2562 | 08:45 น.

มติผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรธน.วินิจฉัย ชี้พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกมธ.สภา ขัดรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแค่เรียก และรมต.มอบจนท.ชี้แจง แถมไม่มีโทษ หากไม่ปฏิบัติตาม

ชงศาลรธน.ตีความคำสั่งเรียกของกมธ.

    วันนี้(15พ.ย. 2562)นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงภายหลังการประชุม ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ว่า  พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ที่ให้อำนาจคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคล  หรือเรียกบุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 และให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 23(1)พ.ร.ป. ว่าด้วยผูู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 ภายในวันเดียวกันนี้

 

     เนื่องจากเห็นว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการฯดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 135 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมาธิการมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่ได้กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวน ศึกษาอยู่นั้นได้และให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้การทำงานของคณะกรรมาธิการสามารถสนับสนุนการดำเนินการของสภาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

     แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ปี2550 สิ้นผลไม่ได้มีการบังคับใช้แล้ว และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยมาตรา 129 บัญญัติให้คณะกรรมาธิการมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่คณะกรรมาธิการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่ได้

 และในวรรค 5 ก็ได้กำหนดวิธีการให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ตามที่คณะกรรมาธิการต้องการไว้เป็นการเฉพาะในลักษณะมาตราการเชิงบังคบ ว่า ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องที่คณะกรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริงอยู่ ต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดให้ข้อเท็จจริงเอกสาร 

หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวก็มีวัตถุประสงค์ให้การทำงานของคณะกรรมาธิการสามารถสนับสนุนการดำเนินการของสภาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกันโดยไม่ได้มีการกำหนดโทษอาญาไว้เพื่อลงโทษ กรณีบุคคลไม่ปฏิบัติตามการเรียกของคณะกรรมาธิการ จึงเห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 60 ให้อำนาจ คณะกรรมาธิการเพียงเรียกเอกสารหรือบุคคลได้เท่านั้นไม่ได้ให้อำนาจในการออกคำสั่งเรียกเหมือนมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ 50  ดังนั้นมาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ของพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554  จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ60 มาตรา129

 

     ทั้งนี้การมีมติดังกล่าวเป็น การพิจารณาข้อกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้เกี่ยวกับการที่คณะกรรมาธิการป.ป.ช.จะใช้อำนาจออกคำสั่งการเรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ซึ่งเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาล รัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ก็เป็นดุลพินิจของประธานคณะกรรมาธิการที่จะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับคำสั่งเรียก เอกสารหรือบุคคล ที่มีไปก่อนหน้านั้น เพราะผู้ตรวจฯไม่มีอำนาจในการที่จะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับคำสั่งเรียกดังกล่าว รวมทั้งเป็นดุลพินิจของผู้ที่ถูกออกคำสั่งเรียกว่าจะรอการพิจารณาวินิจฉัยของศาลก่อนหรือไม่


      ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีดังกล่าวนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจหารแผ่นดินเมื่อวันที่ 6พ.ย.ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจฯได้มติรับคำร้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 12พ.ย.ก่อนมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันนี้