นายกฯ ชี้ เยือน "พิจิตร-ปากนำ้โพ" ปชช.พร้อมพัฒนา

17 มิ.ย. 2561 | 00:50 น.
-17 มิ.ย.2561- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา ”ว่า “ในการลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2 ณ จังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ ในครั้งนี้ ก็เช่นกันนะครับ ขอบคุณทุกคนที่ให้การต้อนรับ และบรรยากาศที่มิตรไมตรีนะครับ ผมขอยกตัวอย่างของพลังบวกในพื้นที่ ที่ผมได้ไปพบ ได้ไปรับทราบมา เพื่อให้เป็นแนวคิด หรือแรงบันดาลใจ ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน และก็นำไปประยุกต์ใช้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสมนะครับ

อาทิ จังหวัดพิจิตร ที่เขาเรียกว่า "เมืองเล็กแต่น่ารัก" บางคนอาจเรียก "เมืองทางผ่าน" ที่น่าสนใจ คือ การขับเคลื่อนของจังหวัดพิจิตร ยึดหลักการ "ระเบิดจากข้างใน" นะครับ ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที 9 การมีส่วนร่วมของประชาชน ตามกลไก "ประชารัฐ" และ "ไทยนิยม ยั่งยืน"

กล่าวคือ ภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมมือ ได้ร่วมกันลงมือทำ และต้องใช้ 3 ท. นะครับ ก็คือ ทำ ทัน ที โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะรอรับงบประมาณนะครับ หรือความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพียงอย่างเดียว ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพลังของชุมชนด้วยนะครับ

ผมขอยกตัวอย่าง การพัฒนาบึงสีไฟ ซึ่งน้ำในบึงแห้งขอด ในช่วงปี 2559 ก็ได้มีการตั้งกลไกประชารัฐ ในการช่วยแก้ไขปัญหา ร่วมมือกันเปิดเส้นทางน้ำ มีการกำจัดผักตบชวา จนทำให้แม่น้ำที่เคยแห้งขอด และอุดตัน ได้ไหลผ่านตลอดทั้งสาย 127 กิโลเมตร เปิดทางน้ำให้เข้ามาเติมในบึงสีไฟได้

ทำให้เราได้เห็นถึงความร่วมมือ ระหว่างองค์กรเครือข่ายภาครัฐ และภาคประชาชน เช่น จังหวัดคุณธรรม โรงเรียนผู้นำตามรอยพ่อ ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมคนรักในหลวง ชมรมดูนกพิจิตร กลุ่มคนพิจิตรได้คืนชีวิตให้กับบึงสีไฟ เหล่านี้เป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นแล้วนะครับ จนส่งผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ดังกล่าว

สำหรับในส่วนของรัฐบาลเองนั้น ก็ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ มากกว่า 300 ล้านบาท ในการขุดลอกบึงสีไฟ ระยะแรกนะครับ และงบประมาณการก่อสร้างทางจักรยานรอบบึงสีไฟ ระยะทาง 12 กิโลเมตร อีกราว 65 ล้านบาท หากแล้วเสร็จ จะทำให้บึงสีไฟ จากเดิมกักเก็บน้ำได้ ประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเป็น "แก้มลิง" กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ได้มากถึง 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตรนะครับ แล้วเราก็จะมีมีเลนจักรยาน ที่เป็นเส้นทางธรรมชาติ สวยงาม และปลอดภัย อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สิ่งที่คาดหวังต่อไปก็คือ การเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนายกระดับบึงสีไฟ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศ จะมีการก่อสร้าง ปรับปรุง และพัฒนาอาคารพิพิธภัณฑ์จระเข้ รวมไปถึง การปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพันธ์ปลาอาคาร 9 เหลี่ยม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ให้สมบูรณ์แบบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ อีกส่วนหนึ่ง ราว 500 ล้านบาทนะครับ ก็ทยอยดำเนินการไปนะครับ

สำหรับการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร ก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่จะแสดงออกถึงความร่วมมืออย่างเข้มแข็งและน่าชื่นชม ของภาคประชาชน โดยเริ่มจากการที่นายรักกี้ สุขประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลย่านยาว ร่วมกับแกนนำชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งนะครับ ได้มีการพัฒนาแม่น้ำพิจิตร ด้วยการทำความสะอาดและนำน้ำลงมาเติมให้กับแม่น้ำ อย่างต่อเนื่อง

โดยการผันน้ำจากคลอง และ ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำดงเศรษฐี ที่กั้นระหว่างแม่น้ำน่าน กับแม่น้ำพิจิตร ทำให้น้ำจากแม่น้ำน่าน ไหลเข้าแม่น้ำพิจิตรได้เป็นครั้งแรก ในปี 2560 ซึ่งก็ก่อให้เกิดความตื่นเต้น และความหวัง ในใจประชาชน ใน 4 อำเภอ 13 ตำบล สองฝั่งแม่น้ำพิจิตร ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า เป็น "สายน้ำแห่งความหวัง" ที่จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่เพียงของชาวพิจิตร แต่กับชาวไทยในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำนี้ อีกด้วย

นอกจากนี้ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ต่างก็ตื่นตัวในการพัฒนาแม่น้ำพิจิตร จนมีการก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ใช้ชื่อว่า "ขุนศึกลูกพ่อปู่ กอบกู้แม่น้ำพิจิตร" ขึ้น ประกอบด้วย ตัวแทนจากทุกภาคส่วน รวมถึงคณะสงฆ์ เข้ามาร่วมหารือ และวางแผนงาน โดยใช้งบประมาณจากการบริจาค และ การประมูลพระเครื่อง

ทั้งนี้งานหลักของกลุ่มขุนศึกฯ ก็คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนผู้เกี่ยวข้องกับแม่น้ำพิจิตรให้มีความตระหนักรู้ ถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านดีที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำพิจิตร ซึ่งต้องการความเสียสละจากภาคประชาชนมากพอควร ทั้งการเสียสละจากความสะดวกสบาย จากการใช้ทางข้ามที่ถมแม่น้ำ การเสียสละที่ดินที่รุกล้ำลงไปในแม่น้ำ และ การสละแรงกายเพื่อช่วยเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูแม่น้ำ

ทางกลุ่มก็ได้รายงานสภาพน้ำ ปัญหาต่างๆ และ การสำรวจเพื่อการขุดลอก รวมถึง ขอให้ชาวบ้านร่วมมือเปิดทางข้าม วางท่อลอด และ ยกย้ายบ้านที่รุกล้ำลงไปกีดขวางทางน้ำ ก็จะทำให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นโครงการที่อาศัย "พลังประชาชน" เป็นหลักนะครับ

ทั้งนี้โครงการขุดลอกแม่น้ำพิจิตร ในระยะต่อไปรัฐบาลได้เข้ามาสนับสนุนผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 กรมชลประทาน กอ.รมน.จังหวัด ฝ่ายท้องที่ และองค์กรปกครองท้องถิ่น ในการขุดลอก ซ่อมแซม และติดตั้งระบบของประตูระบายน้ำดงเศรษฐี ให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ใช้งานได้ 100 % นะครับ และ จะทำประตูระบายน้ำทุกจุด เพื่อจะผันน้ำเข้าสู่ระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำพิจิตร เป็นเงิน 380 ล้านบาทนะครับ

นอกจากพลังชุมชน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและตรงกับความต้องการของประชาชนแล้วนั้นผมยังมีความประทับใจนะครับ ในความมุ่งมั่นในการนำความรู้มาพัฒนาพื้นที่ และช่วยเหลือชุมชน

ผมได้รับทราบถึง "ปราชญ์ชาวบ้าน" ในอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ คือ คุณสุพจน์ โคมณี ที่เป็นผู้น้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" มาปรับใช้ เพื่อปรับปรุงการผลิตพืชผลให้มีคุณภาพ และลดต้นทุน

จากเดิมที่ปลูกข้าว และทำไร่ข้าวโพด โดยใช้หลักพึ่งพาธรรมชาติ แต่ด้วยฤดูกาลที่ไม่แน่นอน บางปีน้ำหลาก บางปีน้ำแล้ง การเพาะปลูกที่ผ่านมา จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

ทั้งนี้ คุณสุพจน์ฯ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมการทำเกษตรผสมผสาน ได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และวิธีทำเกษตรกรรม จากที่เน้นเรื่องปริมาณผลผลิตเพื่อการค้าขาย มาเป็นแบบพึ่งตนเอง เพื่อบริโภคในครัวเรือน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

โดยได้กู้เงินมาฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูก และ ริเริ่มทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้ง ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 20 ไร่ แล้วแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน ตามหลักการ "30-30-30 และ 10" นะครับ กล่าวคือ เป็นนาข้าว 6 ไร่ น้ำ 6 ไร่ ไม้ผล 6 ไร่ ที่อยู่อาศัย พืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ 2 ไร่

จนในที่สุด ทำให้ชีวิตครอบครัวเริ่มดีขึ้น มีผลผลิตเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน หรือแลกเปลี่ยนผลผลิต แบ่งปันเพื่อนบ้าน ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย จนสามารถชดใช้หนี้สินที่กู้ยืมมา หมดภายใน 4 ปี

นอกจากนี้ สิ่งที่ได้นำมาปรับใช้ยังมีอีกมากมายนะครับ เช่น การเพาะปลูกที่เน้นการปลูกข้าวอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในการผลิต อีกทั้ง ปลอดภัยต่อตนเอง และผู้บริโภคด้วย

สำหรับการปลูกข้าว ก็ใช้วิธีตีตาราง ในการปักดำข้าวในแปลงนา ให้มีช่องห่าง และระยะ ที่พอดี เพื่อให้ปลาที่เลี้ยงในนาสามารถหากินได้ง่าย โดยจะปล่อยปลา ประมาณ 500-800 ตัวต่อไร่

รวมถึง การทำนาด้วยน้ำบาดาล ซึ่งมีสนิมเหล็กที่เป็นอันตรายต่อพืช จึงต้องทำให้ตกตะกอนเสียก่อนนะครับ โดยการสูบน้ำแล้ว นำมาพักไว้ในบ่อ และ ทำทางน้ำให้น้ำไหล และม้วนตัว เป็นระยะทาง 200 เมตร เพื่อให้สนิมเหล็กตกตะกอนเป็นต้น

อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การพลิกฟื้นผืนดินโดยคุณสุพจน์ได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นว่า พื้นที่ที่ประสบปัญหา เราก็สามารถปรับปรุง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยในหมู่บ้านหนองข่อย ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ก็ไม่มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง อีกทั้ง ยังมีปัญหาดินเสีย เนื่องจากเกษตรกรรายเก่าใช้สารเคมีในการทำการเกษตรมาก

คุณสุพจน์จึงเริ่มแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม โดยการยกคันดินสูง 3 เมตร แก้ปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง โดยการสูบน้ำบาดาลมาใช้ในพื้นที่ และ นำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในการวางแผนผังของพื้นที่ และ ทำการเกษตรแบบเกื้อกูล เน้นการบริหารจัดการน้ำ โดยวางระบบน้ำเป็นแบบไหลวนรอบพื้นที่

เริ่มจากบ่อพัก ผ่านไปยังพื้นที่เลี้ยงไก่และเป็ด เพื่อใช้มูลไก่และเป็ด เพิ่มธาตุอาหารให้กับน้ำ และ ยังสามารถบริโภคไข่ได้ด้วย โดยน้ำจะอยู่ตรงพื้นที่นี้ 7 วัน แล้วจึงปล่อยสู่บ่อพัก ก่อนที่จะปล่อยไปยังพื้นที่ทำการเกษตร คือ พื้นที่ทำนาข้าว และบ่อเลี้ยงปลา

สำหรับการเลี้ยงปลานั้น ก็จะเป็นการเลี้ยงปลาแบบห่วงโซ่อาหาร โดยเลียนแบบระบบนิเวศ ในช่วงแรกคุณสุพจน์ใช้ข้าวเปลือกในการเลี้ยงปลา แต่เห็นว่าปลาโตช้า จนได้นำปลาที่เลี้ยงมาผ่าท้องดู และพบว่าในท้องของปลานั้นมี หอยขม ก็เลยเลี้ยงหอยขม เพื่อเป็นอาหารของปลา แล้วปล่อยน้ำให้ไหลเวียนไปยังบ่อพัก

ส่วนผลผลิตที่เหลือ จากการสีข้าว เช่น รำข้าว ก็นำมาเป็นอาหารให้ไก่และเป็ดส่วนแกลบสามารถนำมาปูในเล้าไก่ โดยแกลบที่ได้หลังจากปูในเล้าไก่เสร็จแล้ว ก็นำมาเป็นปุ๋ย เพื่อบำรุงต้นไม้ต่อไป อีกด้วยนะครับ

ก็จะเห็นได้ว่าในการทำเกษตรกรรมของคุณสุพจน์ทั้งหมดนั้น เน้นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ เกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมกับพื้นที่และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ผมคิดว่า นี่คือ ภูมิปัญญาของพี่น้องเกษตรกร ที่มีเป็นทุนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการนำมาปรับใช้ในแต่ละขั้นตอน ให้ครบวงจร เพื่อเพิ่มผลผลิต และรายได้ พื้นที่ที่มีปัญหา ก็สามารถพลิกฟื้นให้ผลผลิตได้มากขึ้นเพื่อจะให้รายได้กับพี่น้องเกษตรกรได้

ผมอยากให้สิ่งนี้ เป็นตัวอย่างนะครับ เป็นแรงบันดาลใจ ให้กับพี่น้องเกษตรกรนำไปประยุกต์ ต่อสู้กับปัญหาทางธรรมชาติ รวมถึง ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวน

คุณสุพจน์ นั้นเป็นหนึ่งในปราชญ์ชาวบ้านหลายๆ ท่าน ที่เรามีอยู่ทั่วประเทศ ที่เราสมควรต้องขยายผล นำเอาความรู้ ความเข้าใจ ต่อพื้นที่ ต่อผืนดิน และภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ไปใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ต่อไป นะครับ

อันนี้ก็เป็นไปตามแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ด้วยนะครับ ที่ทรงมีพระราโชบายให้พวกเราได้มีการสืบสาน รักษา และต่อยอดสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ได้ทรงพระราชทานไว้ให้กับเรามาหลายสิบปีมาแล้วนะครับ”