นายกฯสั่งเร่งยกระดับ "อู่ตะเภา" สู่มหานครการบินภาคตะวันออก เชื่อมรถไฟความเร็วสูง

04 มิ.ย. 2561 | 11:07 น.
นายกฯสั่งเร่งยกระดับอู่ตะเภาสู่มหานครการบินภาคตะวันออก เชื่อมโครงการรถไฟความเร็วสูง การบินไทยเตรียมออกทีโออาร์ ดึงเอกชนร่วมลงทุน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ตุลาคมนี้

-4 มิ.ย.2561- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2561 โดยได้สั่งการให้เร่งรัดการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกที่สนามบินอู่ตะเภา ให้เชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงตรงเวลา และวางแผนการขยายตัวของเมืองรอบๆ ข้างให้เป็นระบบ ตามแผนการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกไปสู่ มหานครการบินภาคตะวันออกในระยะ 10 ปี
20180604015624 โดยมอบหมายให้กองทัพเรือและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามลำดับความสำคัญของกิจกรรม (Critical Path) ตามที่เสนอ ด้วยวิธีการบริหารโครงการแบบเร่งด่วน (Fast Track) และจัดทำแผนปฏิบัติการในรายละเอียดร่วมกันอย่างบูรณาการ รวมทั้งกำกับโครงการให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด โดยเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) พิจารณาก่อนเสนอมาอีกครั้งหนึ่ง
20180604015631 การประชุมกพอ.วันนี้ได้รับทราบแนวทางภาพรวมของการขยายตัวจากเมืองการบินภาคตะวันออก ไปสู่ มหานครการบินภาคตะวันออกในระยะ 10 ปี เริ่มต้นจากพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกบริวเณสนามบินอู่ตะเภาขนาด 6,500 ไร่ ไปสู่เขตชั้นในของมหานครการบินภาคตะวันออกพื้นที่โดยรอบรัศมี 10 กิโลเมตร และเขตชั้นนอกรัศมี 30 กิโลเมตร
โดยมีงานและโครงการสำคัญที่ดำเนินการอยู่ คือ งานวางแผนทางวิ่งที่ 2 งานวางแผนแม่บท และการศึกษาความเหมาะสม เพื่อการร่วมทุนกับเอกชน และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งปัจจุบันบริษัทการบินไทย จำกัด มหาชน อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแก้รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นไปตามประกาศ EEC Track โดยการปรับแก้ตามความเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐและคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อสรุปนำเสนอฝ่ายบริหารของบริษัทการบินไทยและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
20180604015629 โดยคาดว่าจะสามารถได้ TOR เดือนกรกฎาคม และได้เอกชนมาลงทุนเดือนตุลาคม 2561 นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ ของคณะกรรมการขับเคลื่อนที่มี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งรับทราบมาตราการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ที่จะดำเนินการในพื้นที่ EEC ต้องมีองค์ประกอบ 6 ลักษณะ ได้แก่ (1) ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) (2) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) (3) การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) (4) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) (5) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) (6) การบริหารจัดการอัจฉริยะ (Smart Governance)
20180604015628 รวมทั้งความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd) ที่จะจัดตั้ง IoT Institute. ในระยะแรก และแนวทางให้มีการร่วมทุนกับเอกชนในการพัฒนา EECd และโครงการเขตนวัตกรรมระเบียเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) ที่จะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อเจรจาและชักชวนนักลงทุน

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ที่ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 และมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ มีการเปลี่ยนชื่อจาก “คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ)” เป็น “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)” และเปลี่ยนชื่อสำนักงานจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ)” เป็น “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)” รวมทั้งยังเพิ่มมีคณะกรรมการจากเดิม 18 คนเป็น 28 คน