นายกฯภูมิใจปีนี้ปัญหาเกษตรกรรมลด“เหตุดูเเลทั้งระบบครบวงจร”

02 มิ.ย. 2561 | 10:32 น.
นายกฯภูมิใจปีนี้ปัญหาเกษตรกรรมลด“เหตุดูเเลทั้งระบบครบวงจร”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ“ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ว่า” การสนับสนุนสินค้าจากข้าวนี้ ก็จะมีส่วนช่วยรัฐบาลในการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายผลในเชิงพาณิชย์ ไปจนถึงการส่งออกไปขายต่างประเทศ อย่างครบวงจร ซึ่งก็จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 ที่เมล็ดพันธุ์ราคาไม่แพง และเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพราะมีการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคไต ให้เป็นข้าวทางเลือก สำหรับประชาชนที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ซึ่งข้าวพันธุ์ กข 43 นี้ ได้ผ่านการวิจัยรับรองคุณสมบัติ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาแล้ว

สัปดาห์หน้าวันที่ 5 มิถุนายน เป็น "วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ" ก็มีเรื่องที่น่ายินดี สำหรับ "กระดูกสันหลังของชาติ" คือ ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 17,800 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ราคา 8,200 บาทต่อตัน ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

tuki

นอกจากนี้ผมอยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรและผู้ที่สนใจ ได้สัมผัสวิถี "ชาวนาไทย ยุค 4.0" ตามนโยบายรัฐบาล อาทิ นโยบายตลาดนำการผลิต โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ไปจนถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเพื่อสุขภาพและความงาม รวมทั้งนวัตกรรมจาก "งานวิจัย" ผสานกับ "ภูมิปัญญา" ได้ที่หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั่วประเทศ ชาวนาอาจมีปัญหาเพราะมีหนี้สิน ทั้งในระบบ นอกระบบค้างเก่าอยู่จำนวนมาก ทำให้ได้ประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะถูกหักไปใช้หนี้ รวมทั้งต้องซื้อสินค้าต่าง ๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตก็เป็นส่วนสำคัญ วันนี้กำลังให้ไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอยู่

เบื้องหลังความสำเร็จที่ส่งเสริมให้ราคาข้าวดีขึ้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาลนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ผมอยากจะนำมาเล่าให้ฟังให้ครบทุกมุมมอง เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า "การปฏิรูปประเทศได้เกิดขึ้นแล้วในทุกๆ ด้าน" ปัญหาบางอย่างของประเทศได้รับการแก้ไขในทันที อันนี้ถือว่าปฏิรูปด้วย อะไรที่ทำไม่ได้หรือที่ทำได้ไม่ดี ต้องทำให้ดีกว่าเดิม การปฏิรูปเหมือนกัน สำหรับเรื่อง "น้ำ" นี้ ขอให้รับฟังเป็นลำดับ ก็จะรู้ว่าน้ำท่วม-น้ำแล้ง ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อาจจะสรุปถึงผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ก่อนที่จะลงในรายละเอียดต่อไป

อาทิ ปี 2561 นี้ นับเป็นปีแรกที่ไม่มีพื้นที่ใดของประเทศ ต้องประกาศเขตให้การช่วยเหลือภัยแล้ง โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่บูรณาการ เชื่อมโยงกันเป็นระบบนำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด โดยวัดได้จากการดำเนินงานในภาพรวม ที่เร็วขึ้นกว่าในอดีต 4 เท่า และประหยัดงบประมาณลงได้กว่าช่วงที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30 ทั้งนี้ หากจะถามว่าอะไรที่เรียกว่า "บูรณาการ" ก็คงต้องเริ่มจากการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งน้ำสำหรับผลักดันน้ำเค็ม เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ และยังมีการทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งมีองค์ความรู้ตาม "ศาสตร์พระราชา" เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืน

nam1

นอกจากนี้ เรายังมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISDA เข้ามาร่วมในการให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่ช่วยให้การติดตามสถานการณ์น้ำ มีความชัดเจน เที่ยงตรงขึ้น โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ Big data นะครับ ของทุกหน่วยงาน ให้เป็นภาพเดียวกัน จะช่วยให้การติดสินใจต่าง ๆ ทำได้ครบทุกมิติ ทันเวลา และมีประสิทธิภาพ ที่กล่าวมานั้น ได้ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ย่อว่า (กนช.) โดยปัจจุบันได้ตั้ง สำนักงานนี้ที่เรียกว่า สทนช. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้มีการดำเนินการอย่างมีเอกภาพ ด้วยการรวมหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำไว้ด้วยกัน หลายสิบหน่วยงานด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดการบูรณาการทั้งหน่วยงาน แผนงาน โครงการ ทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณ

สิ่งสำคัญคือ การดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีการจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วย นอกจากจะมีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้แล้ว เรายังได้คำนึงถึงปฏิญญาสากล จากการประชุมน้ำโลก ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การร่วมมือกันของรัฐบาลทั่วโลก การร่วมมือข้ามพรมแดน โดยยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในการแก้ปัญหาน้ำ และสุขาภิบาล อีกทั้ง การเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นต้น ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะจัดให้มีการสร้างการรับรู้ และเสวนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน นี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก็ขอให้ติดตามในรายละเอียดต่อไป

ผมจะขอนำมากล่าวโดยสรุป ดังนี้
1. การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค เราสามารถสร้างระบบประปาหมู่บ้านได้ 97% จาก 7,490 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ ที่ยังมีไม่ครบ ประปาโรงเรียนดำเนินการแล้วเสร็จ เกือบ 2,000 แห่ง และเจาะบ่อบาดาลได้ เกือบ 2,000 แห่ง เช่นกัน ก็คงต้องทำต่อไป ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2. การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้ภาคการผลิต เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน การขุดสระน้ำในไร่นา การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร และ น้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง เป็นต้น มีประชาชนได้รับผลประโยชน์กว่า 3 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 2 ล้านไร่

3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ได้แก่ การขุดลอกลำคลอง ลำน้ำสาขา แม่น้ำสายหลัก เกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม 63 ชุมชน ก็ยังคงมีอีกในที่อื่น ๆ ก็ทำต่อไป

4. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายหน้าดิน โดยดำเนินการแล้ว 3 แสนกว่าไร่

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นอกจากนี้ ยังมีการจัดการคุณภาพน้ำและที่จะสร้างความยั่งยืนคือ การเร่งรัดออกกฎหมายทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ เราต้องศึกษาผลกระทบในคราวเดียวกันด้วย

สำหรับแผนงานบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ปี 2561 นี้ มีแผนงานที่ผ่านการพิจารณาให้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 216 โครงการ งบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท เพื่อให้ได้น้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ ราว 9 แสนไร่ และในปี 2562 มีอีกกว่า 3 พันโครงการ ที่กำลังพิจารณาจัดลำดับความเร่งด่วนและ ให้เกิดการใช้งบประมาณที่ประหยัด คุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด ตรงความต้องการของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้จะต้องมีการลงทุนสร้างระบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการตกลงใจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อาทิ ระบบงานแผนที่ ระบบงานแบบจำลอง ระบบงานคลังข้อมูลน้ำ ระบบงานสถานีตรวจวัดเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพยากรณ์และ ติดตามสภาพลมฟ้าอากาศ ที่จะช่วยให้สั่งการในเรื่องการเก็บกักน้ำ การพร่องน้ำ การใช้พื้นที่แก้มลิง เรียกรวม ๆ ว่าเป็นการบริหารจัดการที่บูรณาการกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างการนำข้อมูลที่บูรณาการกัน ของทุกหน่วยงาน มาจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ ในฤดูฝนช่วยให้เราสามารถวางแผนเพาะปลูกข้าว ในช่วงฤดูฝนปีนี้ จำนวน 60 ล้านไร่ โดยมีการจัดสรรน้ำ เพื่อใช้ในทุกภาคส่วนได้อย่างเพียงพอกว่า 88,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และเมื่อสิ้นฤดูฝนก็จะต้องมีน้ำต้นทุน สำหรับทำการเกษตรฤดูแล้งปี 2561/2562 ได้อีกราว 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตรอีกหลายอย่าง ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป อาทิ การจัดทำปฏิทินอุทกภัยจากมรสุมต่าง ๆ การกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ด้วยข้อมูลสถิติย้อนหลัง 55 ปี จำแนกตามความรุนแรง โดยมีแผนเผชิญเหตุรองรับ แผนบริหารจัดการน้ำหลาก ในลุ่มน้ำต่าง ๆ โดยใช้ทุ่งที่เชื่อมโยงกันในการหน่วงน้ำ ชะลอน้ำ รวมทั้ง การเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ ไม่ให้ล้น หรือพร่องน้ำจนไม่เหลือน้ำต้นทุนไว้ใช้ในอนาคต คงต้องสำรวจอ่างเก็บน้ำเก่า ๆ ที่มีอายุยาวนานด้วย อาจต้องมีการซ่อมแซม เหล่านี้เป็นต้น ทุกอย่างเราจำเป็นต้องให้ประชาชน เกษตรกรร่วมมือกันจึงจะสำเร็จ ไม่ใช่ให้รัฐบาลทำต่อไปก็ไม่สำเร็จสักอย่าง”

e-book-1-503x62