ห้องเรียนบูรณาการอิสลาม ตอบโจทย์การศึกษา3จังหวัดชายแดนใต้

26 ก.พ. 2561 | 03:55 น.
การพัฒนาการจัดการศึกษาในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมามักมาจากภาครัฐ แต่ด้วยอัตลักษณ์เฉพาะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตอาจทำให้ลงไปได้ไม่เต็มที่ วันนี้มีโรงเรียนศาสนศึกษาในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ลุกขึ้นมาจัดการพึ่งพาตนเองจน กลายเป็นต้นแบบความสำเร็จของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ผ่านโครงการ Samsung Smart Learning Center ได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งต่างจากโรงเรียนเอกชนในพื้นที่อื่น จัดตั้งขึ้นในรูปของมูลนิธิ เก็บค่าบำรุงการศึกษาภาคเรียนละ 100 บาท และ 500 บาทสำหรับนักเรียนอยู่ประจำ ได้รับงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากกระทรวงศึกษาธิการแต่จะน้อยกว่าโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วไป โรงเรียนจึงต้องหาทุนสนับสนุนจากรัฐอิสลาม อาทิ จากประเทศตุรกี และมาเลเซีย เป็นต้น
ในขณะที่นักเรียนจะเรียนทั้งวิชาสามัญและวิชาศาสนา เรียนตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. สัปดาห์ละ 5 วัน รวม 50 คาบ/สัปดาห์ ซึ่งหนักกว่านักเรียนทั่วไปที่เรียน 40 คาบ/สัปดาห์ เมื่อผนวกรวมกับการเรียนการสอนที่ส่วนใหญ่เน้นบรรยายและการท่องจำจึงทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีความสุขไม่สนุกกับการเรียน ฯลฯ ยิ่งไปขยายช่องว่างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น และที่ผ่านมาทีมผู้บริหารและครูได้ปรับปรุงและหาวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะช่วยเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสมัครเข้าร่วมโครงการ

TP14-3343-2A “มาถึงจุดที่เราต้องเปลี่ยน แปลงเพราะเด็กไม่กล้าแสดงออก เขาขาดแรงบันดาลใจ ไม่มีทักษะที่จำเป็นด้านอื่นๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม การมีส่วนร่วม และการสื่อสารความคิดของตัวเอง” นางอัสมะ หะยีมอหะมะสอ และ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา บอกเล่าการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับซัมซุง เมื่อปี 2560 โดยนำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 อย่างละ 1 ห้อง รวม 60 คน มาเป็นต้นแบบในโครงการนี้ก่อน

นายสุนันต์ สะซีลอ (ครูฟี) ครูที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะครูผู้พัฒนาหลักสูตร “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” บอกเช่นเดียวกันว่า ปัญหาสำคัญที่พบก่อนหน้านี้คือ เด็กขาดความมั่นใจ ไม่กล้าแม้แต่จะสบตาครู จึงไม่ต้องพูดถึงเวลาในคาบเรียนเมื่อมีคำถาม เด็กๆ ก็จะไม่กล้าตอบ แม้ว่าจะเป็นคำถามง่ายแค่ไหนก็ตาม แต่หลังจากปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน พบว่า นักเรียนสนใจใส่ ใจการเรียน มาโรงเรียนอย่างมีความสุข เฝ้ารออย่างตื่นเต้นว่าจะได้เรียนอะไรในคาบต่อไป ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เด็กมีทักษะพร้อมที่จะรับมือกับโลกอนาคต

นางสาวซีฮาดา มะเสาะห์ (ครูดา) ครูวิชาภาษาไทย ถ่ายทอดเรื่องราวน่าประทับใจของลูกศิษย์รายหนึ่งให้ฟังตอนหนึ่งว่า เขาสูญเสียทั้งพ่อและแม่ จากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ เห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา ทำให้เป็นเด็กซึมเศร้า มาโรงเรียนแต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร มักหลบอยู่ใต้โต๊ะจนครูเป็นห่วง เวลาทำงานกลุ่มเพื่อนๆ ก็ไม่อยากได้เขาเข้ามาร่วมทีม แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของการเรียนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้

TP14-3343-1A ปัจจุบันนอกจากจะเปิดใจพูดคุยกับครูและเพื่อนๆ แล้ว เขายังเป็นเด็กที่กล้าแสดงออกมากที่สุดคนหนึ่งของห้อง มีส่วนร่วมในทุกๆ กิจกรรมเท่าที่มีโอกาส เป็นคนแรกๆ ที่ยกมือขอมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ กลายเป็นคนที่เพื่อนๆ ต้องการให้เข้ามาอยู่ในทีม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ครูทุกคนภาคภูมิใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ บอกว่า บริษัทซัมซุงฯให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นจุดหลักซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อนมีการพูดถึงการพัฒนาทักษะสู่ศตวรรษที่ 21 แต่ก็ไม่มีรูปแบบหรือกระบวนการชัดเจนที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างจริงจัง และจากการพูดคุยหารือกับผู้รู้ต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นักวิชาการ และครูผู้สอนเอง พบว่า ส่วนใหญ่จะไปจบที่การฝึกอบรมแต่ไม่สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 6 ของโครงการ ปัจจุบันมี 47 แห่งทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้าเปิดรับอีก 3 โรงเรียนในปีนี้

เงื่อนไขสำคัญที่ซัมซุงให้ความสนใจสำหรับโรงเรียนที่จะผ่านการคัดเลือก คือ ต้องมี ความพร้อมเรื่องผู้บริหาร และครูผู้สอน รวมถึงตัวของนักเรียนที่ต้องการผลักดันตัวเองเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ขณะที่ในส่วนของซัมซุงจะให้การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์และนวัตกรรมต่างๆ มาหนุนเสริมให้กับผู้เรียนผ่านกระบวนการจัด การเรียนรู้ที่เด็กมีส่วนร่วม ครูปรับบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำ พัฒนาเป็นห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 ที่มีการจัดการพื้นที่ทางกายภาพ การใช้เทคโนโลยี และการจัดการเรียนการสอนมาพัฒนาเป็นหลักสูตรใหม่โดยบูรณาการวิชาอิสลามศึกษาและวิชาสามัญเข้าด้วยกัน โรงเรียนแห่งนี้นับเป็นอีกบทพิสูจน์ที่สะท้อนแนวคิดและกระบวน การของห้องเรียนแห่งอนาคตว่า สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างอย่างได้ผล

น่ายินดีที่วันนี้มีภาคเอกชนเข้าไปร่วมสนับสนุนขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกแรงหนึ่ง...

++ภาษายังเป็นข้อจำกัดการสื่อสาร
อัสมะ หะยีมอหะมะสอและ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา เล่าว่า เดิมทีเป็นโรงเรียนปอเนาะที่สอนศาสนาอย่างเดียว ก่อตั้งโดยคุณตา ต่อมาผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นลูกเขยได้เข้ามาบริหารงานต่อได้ทำการจดทะเบียนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งสอนหลักสูตรวิชาศาสนาควบคู่กับวิชาสามัญ

[caption id="attachment_262327" align="aligncenter" width="335"] อัสมะ หะยีมอหะมะสอและ อัสมะ หะยีมอหะมะสอและ[/caption]

สมัยที่ยังเรียนปริญญาโท อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เธอมาเป็นครูสอนวิชาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ก่อนรับช่วงต่อเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็น ผอ.หญิง เพียงคนเดียวที่บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจากทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 100 แห่งในอำเภอสายบุรี

ช่วงแรกสังเกตเห็นความไม่เป็นระเบียบวินัยของเด็กๆ อาทิ การวางรองเท้า และการจอดรถ ฯลฯ จนคิดว่าต้องทำให้เข้าระบบ ไม่ให้ความไม่เป็นระเบียบกลายเป็นความเคยชิน จึงได้คิดพัฒนาหาแนวทางเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงการหาวิธีปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ

...สำหรับชาวมุสลิมนั้นยึดแนวทางของศาสนาในการดำเนินชีวิต ดังนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนจึงเน้นเรียนศาสนาควบคู่ไปกับวิชาสามัญ ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นทำอย่างไรให้อยู่ในระเบียบของมุสลิมที่ดีและไม่ขาดส่วนใดไป...จุดเริ่มสำคัญของการนำนักเรียนชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 มาเป็นต้นแบบของ “ห้องเรียน บูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21”

บาร์ไลน์ฐาน หลังจากเข้าร่วมโครงการได้ 1 เทอม มุ่งเน้นการสอนแบบ Active Learning โดยครูทำหน้าที่เป็นโค้ช หรือผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ ได้เห็นพัฒนาของนักเรียน จากเดิมรับข้อมูลจากครูที่ป้อนให้เพียงฝ่ายเดียว เรียนแบบไม่มีจุดมุ่งหมาย ขาดความกระตือรือร้น วันนี้นักเรียนกล้าที่จะตอบคำถาม มีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนๆ ได้ดีขึ้น ทำงานกลุ่ม แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้

“เราได้เห็นแล้วว่า การเรียนการสอนแบบนี้ทำให้เกิดการพัฒนาการ จะพยายามต่อยอดขยายผลไปสู่ระดับชั้นอนุบาล ประถมและมัธยมต่อไป เพราะการเรียนการสอนไม่ควรไปตีกรอบให้เด็ก ไม่ควรไปบอกว่า อะไรผิดหรือถูก อยากให้เขาได้แสดงความคิดเห็นให้ได้มากที่สุด เป้าหมายคือ อยากให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข กล้า พูด กล้าคิด กล้าที่จะคิดสร้างสรรค์”

สำหรับเป้าหมายในฐานะ ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้นั้น เธอบอกว่า ปัญหาเรื่องของภาษา ยังเป็นข้อจำกัดในการสื่อสารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นักเรียนจึงอาจยังถ่ายทอดหรือสื่อเป็นภาษากลางออกมาอย่างที่คิดได้ไม่เต็มที่มากนัก ในอนาคต ตั้งเป้าอยากให้นักเรียนของเธอมีพัฒนาการเรื่องนี้ดีขึ้น

เรื่อง: กมลพร ชิระสุวรรณ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว