สนช.รับหลักการร่างกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

23 ก.พ. 2561 | 10:31 น.
ที่ประชุม สนช. มีมติ 184 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ขณะสมาชิก สนช. ติดใจประเด็นกองทุนสามารถดำเนินการหรือสนับสนุนให้มีการจัดการตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูได้

วันนี้ (23ก.พ.2561) เว็บไซต์ http://www.radioparliament.net เผยแพร่ข่าว การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 184 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 188 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 42 วัน

org_312072560

โดยนายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์รัฐมนตรี (รมต.) ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงเหตุผลที่ให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่า โดยที่มาตรา 54 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี โดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้

ด้านสมาชิก สนช.เห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ได้มีข้อเสนอแนะในหลายประเด็น อาทิ การกำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนต้องมีความโปร่งใสและรอบด้าน กำหนดกองทุนชี้แจงการดำเนินงานทุก 6 เดือน เพิ่มผู้แทนที่อยู่ในส่วนภูมิภาคเข้าไปในคณะกรรมการบริหารกองทุน ผู้จัดการกองทุนไม่ควรดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเกิน 2 วาระ สถานศึกษาต้องสามารถเข้าถึงกองทุนได้อย่างเป็นระบบ ควรระบุหลักเกณฑ์ในการวัดเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน สนช.ที่อภิปรายส่วนใหญ่ติดใจประเด็นที่ กองทุนสามารถดำเนินการหรือสนับสนุนให้มีการจัดการตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู โดยมองว่าอาจเป็นการให้อำนาจกองทุนจัดตั้งหน่วยงานใหม่ และหากจบจากสถาบันนี้แล้วไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพจริง จะต้องมีสิ่งยืนยันให้แน่ชัดว่า บุคลากรที่จบจากสถาบันมีประสิทธิภาพจริง พร้อมเชื่อว่าหากความเหลื่อล้ำทางด้านการศึกษาลดลงได้ ความเหลื่อล้ำในประเทศจะลดลงได้เช่นกัน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว