ไฮสปีดเทรนไทย-ญี่ปุ่นกทม.-พิษณุโลกจ่อชงครม.ต้นปี 61

26 ธ.ค. 2560 | 08:50 น.
โฆษกฯ คาดไฮสปีดเทรนไทย-ญี่ปุ่นช่วง กทม.-พิษณุโลกจะเสนอเข้าครม.ต้นปี 61

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)(26 ธ.ค. 60) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่ จ.สุโขทัย โดยที่ประชุมครม.ได้รับทราบการรายงานภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในภาคเหนือ ทั้งในส่วนของทางบก ทางอากาศ ทางราง และทางน้ำ
โดยในส่วนของทางบกนั้นจะมีการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร คือ ทางหลวงหมายเลข 12 แม่สอด-มุกดาหาร ซึ่งการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 4 ช่วง แล้วเสร็จ 3 ช่วง ยังเหลือช่วงสุดท้าย คือ ในส่วนของแม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีความคืบหน้าไป 5% เนื่องจากติดขัดจากการก่อสร้างถนนที่ต้องตัดผ่านต้นไม้ใหญ่ ซึ่งได้มีการประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินต่อไปได้

นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเชียงใหม่ สายสันป่าตอง-หางดง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 61

ส่วนระบบพัฒนาขนส่งเมืองหลัก (เชียงใหม่ และพิษณุโลก) ที่ต้องการให้มีรถราง รถไฟเพื่อใช้เป็นระบบขนส่งสาธารณะในเขตตัวเมือง

san2612

ส่วนทางรางนั้น ได้มีข้อเสนอการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี- ปากน้ำโพ ซึ่งคาดว่าจะลงนามได้ในวันที่ 28 ธ.ค.60 และช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ที่จะเสนอครม.พิจารณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 61 ส่วนการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัย- เชียงราย - เชียงของ อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในปี 61

ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นนั้น กระทรวงคมนาคมรายงานว่า จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทางประมาณ 380 กม. ให้ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการได้ภายในต้นปี 61 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณปี 62

"ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ไปพิจารณาการลงทุนว่าจะเป็นรัฐลงทุนหรือเอกชนร่วมลงทุน และให้ไปศึกษาว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือความเร็วปานกลาง เนื่องจากยังไม่มีทิศทางในการเชื่อมต่อไปที่อื่นชัดเจน"

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15-3

พล.ท.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ส่วนทางอากาศนั้น จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานเชียงใหม่ แห่งที่ 2 ซึ่งกำลังพิจารณาพื้นที่ว่าจะอยู่ใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หรือที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ขณะเดียวกันที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะมีการขยายอาคารรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่รองรับได้อยู่ 10 ล้านคน/ปี จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน/ปี และรองรับสายการบินเพิ่มขึ้นเป็น 34 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 24 เที่ยวบิน/สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่แม่สอด จ.ตาก, ที่ จ.แพร่ และ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งยังติดปัญหาว่าหัวและท้ายของรันเวย์ติดกับพื้นที่ชุมชน และอยู่ในเขตเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ภาคเอกชนช่วยทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วยก่อนที่จะเริ่มก่อสร้าง

ส่วนทางน้ำนั้น จะมีการพัฒนาและปรับปรุงทางเดิน 98 ร่องน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมเจ้าท่าจะรับไปดำเนินการ

e-book