ใบสั่งอุ้ม7ป.ป.ช.อยู่ต่อ สนช.ส่อยืนตามกมธ.-เมินคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ

21 ธ.ค. 2560 | 13:20 น.
สนช.เตรียมพิจารณาวาระ 2-3 ร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช. 21 ธันวาคมนี้ จับตาอุ้ม “7 ป.ป.ช.” ที่มีปัญหาคุณสมบัติขัดรธน.อยู่ต่อ สะพัดเป็น “ใบสั่ง” จากผู้มีอำนาจ

เผือกร้อนในมือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สัปดาห์นี้ เลี่ยงไม่พ้นวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... (พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต) ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สนช. ซึ่งจะเข้าที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาวาระ 2-3 ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้

หนึ่งในสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ถกเถียงกันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ กรณีที่ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” (กรธ.) เสนอให้โละทิ้ง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) ที่มีปัญหาคุณสมบัติ เช่นเดียวกับ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ที่ถูกเซตซีโร่ไปก่อนหน้านี้

tp16-3324-a ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ” เสียงข้างมาก ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ และทหาร มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้แก้ไขหลักการของ กรธ.ให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันที่มีปัญหาคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ โดยยึดบรรทัดฐานก่อนหน้านี้ที่ 36 สนช.เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้ประธานและผู้ตรวจการแผ่นดิน อยู่ต่อไปได้ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด ผลการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มีรายงานว่า ที่ประชุมลงมติเสียงข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตนายตำรวจและอดีตนายทหารที่มีความสนิทสนมและใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ได้โหวตให้แก้ไขหลักการเดิมของ กรธ.ที่เสนอให้รีเซต ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน 7 คน ใน 9 คน ที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกจนครบวาระ 9 ปี นับตั้งแต่วันที่ ป.ป.ช.แต่ ละคนได้รับการแต่งตั้ง

“เหตุผลที่ ป.ป.ช.ทั้ง 7 คนได้อยู่ต่อ ไม่ต้องถูกรีเซต เพราะเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจอยากจะให้อยู่ต่อ” แหล่งข่าวในกมธ.รายหนึ่ง ระบุ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 ขณะเดียวกันที่มีรายงานว่า กมธ.ในสัดส่วนของ ป.ป.ช.ได้เสนอให้เพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทาง โทรศัพท์ โทรสาร โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แต่ก็มี กมธ.บางส่วนพยายามคัดค้านไว้ เพราะเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน แต่ก็ไม่เป็นผล แต่ได้สงวนคำแปรญัตติไว้เพื่อไปต่อสู้วาระ 2 ในที่ประชุม สนช.ต่อไป

ขณะที่ความเห็นของ สนช.นั้น นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) ออกมาระบุว่า มีสมาชิกสนช. 7-8 คน เสนอขอแปรญัตติให้คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ต่อ อาทิ นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายธานี อ่อนละเอียด นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รวมถึงตนเองด้วย โดยเหตุผลที่ให้อยู่ต่อนั้นก็เหมือนกับกรรมการองค์กรอิสระองค์กรอื่น

การได้อยู่ต่อของ 7 กรรม การป.ป.ช.ซึ่งมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. รวมอยู่ด้วย ย่อมไม่พ้นข้อครหาตามมาว่าช่างเหมาะเจาะกับห้วง เวลานี้ที่ พล.อ.ประวิตร ตกเป็นเป้ากรณีถูกตรวจสอบเรื่อง “แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน” พอดิบพอดี

มติของกมธ.ดังกล่าวขัดกับหลักการและเจตนาของ กรธ. ที่ตั้งแท่นไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 178 กำหนดให้ ประธาน และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับ บรรดาที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 ซึ่งจะพบว่า ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันมี 7 รายที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือต้องพ้นจากตำแหน่งไป ประกอบด้วย

1.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เมื่อปี 2557 ติดเงื่อนไขพ้นจากข้าราชการการเมืองไม่ถึง 10 ปี 2.นายปรีชา เลิศกมลมาศ แม้ว่าจะเคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2552 ถือเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ แต่เมื่อนับเวลาดำรงตำแหน่งจนถึงวันเข้ารับการสรรหาไม่ถึง 5 ปี 3.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 เมื่อปี 2548 ก่อนย้ายไปเป็นจเรตำรวจ และเกษียณอายุราชการปี 2555 เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี แต่เมื่อนับเวลาดำรงตำแหน่งจนถึงวันเข้ารับการสรรหาไม่ครบ 5 ปี เช่นกัน

บาร์ไลน์ฐาน 4.นายณรงค์ รัฐอมฤต ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2555 เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2556 นับเวลาดำรงตำแหน่งไม่ถึง 5 ปีอีกราย 5.นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ระดับ 10 เทียบเท่าอธิบดีตั้งแต่ปี 2549-2553 เข้ารับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. เมื่อปี 2557 ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ ต้องรับและเคยรับราชการในตำแหน่ง ไม่ตํ่ากว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

6.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อปี 2557 เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระ และ 7.พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหมถึงปี 2555 รอลุ้นการตีความว่าเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีหรือไม่ และนับเวลาการดำรงตำแหน่งถึงวันรับการสรรหาครบ 5 ปีหรือไม่
คงต้องรอลุ้นกันว่า วันที่ 21 ธันวาคมนี้ ในประเด็น 7 ป.ป.ช.ที่คุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ ที่ประชุม สนช.จะยึดตามมติของ กรธ.หรือ กมธ.กันแน่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,324 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9