ร่างก.ม.ใหม่เข้มปฏิบัติหน้าที่ ห้าม‘อัยการ’นั่งบอร์ดรสก.

11 ธ.ค. 2560 | 05:04 น.
สำนักงานอัยการสูงสุด โดย นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยข้าราชการอัยการและบุคคลทั่วไป สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ www. ago.go.th ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ก่อนที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับสาระหลักในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีสิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่หลายประเด็นโดยเฉพาะการเข้าไปเป็น “บอร์ดในรัฐวิสาหกิจ” ที่เห็นชัดเจนว่า ถูกยกระดับให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานอัยการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำอันอาจส่งผลในการสั่งคดี หรือการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายฉบับเดิมซึ่งมีลักษณะ “ห้ามแบบมีเงื่อนไข” ที่ระบุว่า ข้าราชการอัยการต้อง “ไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก ก.อ. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.อ. กำหนด” ได้แก้ไขเป็น ข้าราชการอัยการต้อง “ไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน”

[caption id="attachment_240531" align="aligncenter" width="503"] เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.) เข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด (อสส.)[/caption]

ทั้งยังได้ขยายความในวงเล็บถัดมาจากที่กำหนดว่า ข้าราชการอัยการต้อง “ไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือที่ปรึกษากฎหมายหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานทำนองเดียวกันนั้นในห้างหุ้นส่วนบริษัท”

ให้เปลี่ยนเป็น “ไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษากฎหมายหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือกิจการอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกับห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่มีวัตถุประสงค์มุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นที่ปรึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน”

++ประธานก.อ.คนนอก-วาระ2ปี
นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 248 ซึ่งบัญญัติให้ การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดย “คณะกรรมการอัยการ” ที่อย่างน้อยต้องประกอบด้วย ประธานกรรมการ ซึ่งไม่เป็นพนักงานอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกจากพนักงานอัยการซึ่งต้องมีบุคคลที่ไม่เคยเป็นพนักงานอัยการรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น องค์ประกอบของ “คณะกรรมการอัยการ” (ก.อ.)ใหม่ จึงกำหนดให้ตัว ประธานก.อ. ต้องเป็นบุคคลภายนอก โดยเลือกจากผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้วในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีอัยการหรือเทียบเท่า หรือเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า แต่ต้องไม่เคยเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งข้าราชการอัยการเว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วยเป็นผู้เลือก

“อัยการสูงสุด” เป็น “รองประธาน ก.อ.” มีรองอัยการสูงสุดตามลำดับอาวุโส 4 คน เป็น กรรมการอัยการโดยตำแหน่ง และ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้วจำนวน 2 คน

และในมาตรา 18 (5) กำหนดให้กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับเลือกจากพนักงานอัยการ ซึ่งไม่เคยเป็นพนักงานอัยการมาก่อน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ ด้านการพัฒนาองค์กร หรือด้านการบริหารจัดการอีก 2 คน และกำหนดให้อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ นั่งเป็น กรรมการอัยการโดยตำแหน่งและเป็นเลขานุการก.อ.ด้วย ทั้งนี้กำหนด ให้ประธานก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว 2 ปี

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 ++คัดประธานก.อ.จาก5รายชื่อ
สำหรับการเลือก ประธานก.อ. นั้นให้ ก.อ.ประชุมพิจารณากำหนดรายชื่อที่สมควรเป็นประธานไม่น้อยกว่า 5 รายชื่อ รวมถึงการกำหนดรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็น กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา 18 (5) เพื่อให้ข้าราชการอัยการเว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย เป็นผู้เลือกจากรายชื่อดังกล่าว

ให้อัยการสูงสุดดำเนินการให้มีการเลือกประธาน ก.อ. และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีเหตุต้องเลือก และห้ามกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการอัยการลงคะแนน หรืองดเว้นลงคะแนน ทั้งนี้ตามระเบียบที่ ก.อ.กำหนด เมื่อผลการเลือกประธานก.อ.ตามที่อัยการสูงสุดประกาศรายชื่อเป็นประการใด ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง

++ตรวจสอบกันเองในองค์กร
ร่างกฎหมายใหม่ยังกำหนดให้ประธานก.อ.ต้องพ้นจากตำแหน่งกรณีกลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการอัยการ รวมถึงตัวกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรับบำเหน็จหรือบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่เคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้วจำนวน 2 คน และในส่วนของกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเลือกมาจากผู้ไม่เคยเป็นข้าราชการอัยการมาก่อนให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณหรือด้านบริหารจัดการจำนวนอีก 2 คนนั้น ถูกถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งได้ กรณีมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับคุณธรรมและจริยธรรม โดยข้าราชการอัยการไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนข้าราชการอัยการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วยเข้า ชื่อขอให้ถอดถอนประธานก.อ. หรือกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวให้ออกจากตำแหน่งได้ จากนั้นให้อัยการสูงสุดจัดให้มีการลงมติภายใน 30 วัน โดยผู้ถูกเข้าชื่อขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว