ร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ในมือสนช. ลุ้นนับถอยหลัง‘วันหย่อนบัตร’

10 ธ.ค. 2560 | 11:30 น.
กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้ายเข้าสู่ขั้นตอนของกระบวน การนิติบัญญัติแล้ว เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติรับร่างหลักการพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณารายละเอียดภายใน 58 วัน

++นักการเมืองจับตาระทึก
หากร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับผ่านกระบวนการจนประกาศให้บังคับใช้เมื่อไหร่ จะไปสมทบกับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้าแล้ว ทำให้มีกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งครบ 4 ฉบับ เท่ากับเริ่มนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องจัดให้มีขึ้นภายในกำหนด 150 วันทันที โดยบทเฉพาะกาลกำหนดให้รัฐตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน และให้กกต.มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องอยู่ในกรอบเวลาดังกล่าว

ขณะเดียวกันนักการเมืองต่างเฝ้าเกาะติดร่างกฎหมายลูกที่เหลือในมือสนช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งตามรัฐธรรมได้บัญญัติหลักการใหม่ อาทิ การเลือกตั้งเบื้องต้นผู้สมัครรับเลือกตั้ง (ไพรมารี โหวต) ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ฯลฯ ว่าจะมีการวางกติกาที่ตีกรอบนักการเมืองหนักหน่วงเพียงใด

++แพ้โหวตโนหมดสิทธิสมัครซ่อม
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชี้แจงว่า ภาพรวมของร่างพ.ร.ป.นี้ มีวัตถุประสงค์ให้การเลือกตั้งส.ส.เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงบัญญัติหลักการสำคัญหลายประการเข้าไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว อาทิ

[caption id="attachment_15444" align="aligncenter" width="503"] ศ.ดร.มีชัย ฤชุพันธ์ุ ศ.ดร.มีชัย ฤชุพันธ์ุ[/caption]

กำหนดให้เบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ซํ้ากัน ที่สำคัญกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีทางเลือกในการออกเสียงมากขึ้น คือ การลงคะแนนไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครคนใด เดิมไม่เคยนำคะแนนส่วนนี้มานับ แต่คราวนี้กำหนดให้นำคะแนนนั้นมานับแล้วประกาศให้ประชาชนทราบ ถ้าผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นไม่มีใครได้คะแนนเกินกว่าคะแนนไม่เลือกผู้ใด ในเขตนั้นจะไม่มีผู้ได้รับการเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิลงสมัครซ่อมอีก ต้องกลับไปสร้างคุณความดี อีก 4 ปีค่อยกลับมาสมัครใหม่

ด้านน.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. คนที่ 4 แจกแจงสาระสำคัญของร่างฯที่กรธ.ส่งให้สนช.พิจารณา โดยส.ส.มีทั้งสิ้น 500 คน เป็นส.ส.จากเขตเลือกตั้ง 350 คน 350 เขตทั่วประเทศ และส.ส.จากบัญชีรายชื่อพรรครวม 150 คน ในการเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียวเลือกคนและพรรค (การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม)

เจตน์ เพิ่มจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิเป็น 1,000 คนต่อหน่วยเลือกตั้ง นั่นคือจะทำให้จำนวนหน่วยเลือกตั้งลดลง ไม่มีกกต.จังหวัด เปลี่ยนเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งตามกฎหมายกกต. การแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จำนวน ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ หารด้วยจำนวน ส.ส.เขต 350 คน ได้จำนวนประชากรต่อหน่วยเลือกตั้ง เพื่อไปกำหนดเขตเลือกตั้ง โดยมีผอ.การเลือกตั้งประจำเขต 1 คน คณะกรรมการเลือกตั้งประจำเขตไม่น้อยกว่า 3 คน ทำหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 5 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน่วยเลือกตั้ง 1 คน

++ผู้สมัครโชว์เสียภาษี3ปี
น.พ.เจตน์ ระบุต่อว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องอายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปี มีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 90 วัน ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ถ้าเลือกตั้งเพราะเหตุยุบสภาให้ลดเหลือ 30 วัน คุณ สมบัติและลักษณะต้องห้ามเหมือนกฎหมายเดิม

มีเอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมคือ หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาติดต่อกัน 3 ปี เว้นแต่ผู้ไม่ได้เสียภาษีนี้ให้ทำหนังสือยืนยันพร้อมระบุสาเหตุ โดยให้สำนักงานกกต.จัดทำข้อมูลหลักฐานเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไป

tp14-3321-B ++เลิกเบอร์เดียวทั่วประเทศ
หมายเลขผู้สมัครไม่ได้เป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศเหมือนเดิม แต่จะเรียงตามลำดับเลขที่ของการสมัครแต่ละเขต กรณีตรวจพบภายหลังว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัคร ให้เสนอเรื่องต่อกกต.เพื่อวินิจฉัย ถ้าประกาศผลการเลือกตั้งแล้วให้กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในการจัดทำบัญชีต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณา โดยต้องคำนึงถึงการกระจายตามภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง และต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ติดต่อกัน 3ปีเช่นกัน

ให้กกต.ประกาศจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตแต่ละคนและของพรรค การเมือง และทบทวนจำนวนเงิน ทุก 4 ปี โดยผู้สมัครและพรรคต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายต่อกกต.ภายใน 90 วัน หลังเลือกตั้ง

++ตีกรอบเข้มหาเสียงใหม่
ส่วนวิธีการหาเสียงของผู้สมัครก็วางแนวปฏิบัติใหม่ น.พ.เจตน์แจงว่า ร่างพ.ร.ป.การ เลือกตั้งส.ส.ใหม่ยังกำหนดให้การหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็ก ทรอนิกส์ให้ทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กกต.กำหนด ซึ่งต้องหยุดภายใน 3 วันก่อนเลือกตั้ง

ผู้สมัครสามารถใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตนหาเสียงได้โดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรสพ ให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง ปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายได้เฉพาะในสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด โดยมีขนาดและจำนวนตามที่กำหนด

กกต.อาจกำหนดให้มีการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องป้องกันการทุจริตได้ โดยต้องสะดวกกว่า ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ (EVM) ขยายเวลาการเลือกตั้งไป 1 ชั่วโมง เป็น 08.00-16.00 น. มีการออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าและลงคะแนนเลือกตั้งสำหรับผู้มีสิทธิในต่างประเทศได้เหมือนเดิม แต่ยืดหยุ่น ให้ปรับสถานที่และวิธีการตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ในเขตเลือกตั้งใด ถ้ามีคะแนนเสียงโหวตโน (ไม่ประสงค์เลือกผู้ใด) มากกว่าคะแนนของผู้สมัครทุกคน ให้จัดการเลือกตั้งใหม่โดยตัดสิทธิผู้สมัครเดิม

ในกรณีที่ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้นั้นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้มีคำสั่ง โดยจำนวนเงินพิจารณาจากหลักฐานค่าใช้จ่าย

คาดหมายกันว่ากฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส.จะประกาศเพื่อบังคับใช้ได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 เริ่มนับ 150 วันสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,321 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว