เลื่อนใช้พรก.ต่างด้าว

09 ธ.ค. 2560 | 11:17 น.
รัฐบาลเตรียมผ่อนผันระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าว หลัง ครม. 12 ธ.ค.ไฟเขียวขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติถึง 31 มี.ค. 61 หวั่นเงื่อนเวลาทำแรงงานผิด ก.ม. เหตุตกค้างยังสูงกว่า 1.13 ล้านคนทีดีอาร์ไอ หนุนแก้ “จัดโซนนิ่ง”ชี้จำกัดสิทธิ์

คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 33/2560 ที่ให้ชะลอบทกำหนดโทษพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยผ่อนปรนการใช้ 4 มาตราคือมาตรา 101, 102, 119 และ 122 ออกไป 180 วัน (23 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2560) โดยจะมีผลวันที่ 1 มกราคม 2561 หลังจากที่พ.ร.ก.บังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560อย่างไรก็ดีความล่าช้าในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้ยังมีแรงงานตกค้างกว่าล้านคน ดังนั้นหากพ้นระยะผ่อนผัน 31 ธันวาคมแรงงานเหล่านี้จะผิดกฎหมายทันที

[caption id="attachment_62524" align="aligncenter" width="364"] ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์[/caption]

นายสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ต้องยอมรับว่ากระบวนการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์แรงงานต่างด้าวไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยความร่วมมือจากต่างชาติ (กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว) และยังมีเรื่องผลประโยชน์การเรียกรับค่าหัวคิวหรือส่วยตั้งแต่ประเทศต้นทางรายละ 500-2000 บาทและเข้ามาต้องเสียให้ฝ่ายไทยอีก ทำให้รัฐต้องขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไปแต่จะไม่เกิน 31 มีนาคม 2561 เพราะจะไปชนกับกลุ่มบัตรสีชมพูที่จะหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 และต้องตรวจสัญชาติต่ออายุทำงาน

“การพิสูจน์สัญชาติไม่ทันสิ้นเดือนนี้แน่ แต่ปัญหาคือคำสั่งคสช.ที่ให้ผ่อนผันบทกำหนดโทษ 4 มาตราของพ.ร.ก.ไปจนถึง 31 ธันวาคมนี้ซึ่งใกล้จะครบกำหนดจะหาทางออกอย่างไรผมเชื่อว่าเร็วๆ นี้จะมีประกาศออกเพื่อให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย”

สอดคล้องกับนายอดิศร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ว่า รัฐต้องมีมาตรการตามออกมาเร็วๆนี้เช่นประกาศขยายเวลาเพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้แรงงานข้ามชาติที่พยายามจะเข้าเมืองถูกต้อง ต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายทันที 500,000-600,000 คน จากที่ประเมินแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว ทั้งในกลุ่มจับคู่กับนายจ้าง 797,685 คน และกลุ่มบัตรสีชมพู ยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก

[caption id="attachment_237008" align="aligncenter" width="503"] พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว จะเสนอที่ประชุม ครม.วันที่ 12 ธันวาคมให้พิจารณาขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไปเป็นวันที่ 31 มีนาคม 2561 หลังได้พิสูจน์สัญชาติไปแล้วเกือบ 1 ล้านคนแต่ตกค้างอีกกว่า 1.137 ล้านคน ช่วงผ่อนผันโทษ 180 วัน

ที่ประชุมครม.วันที่ 4 ธันวาคมตีกลับคณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนร่างพ.ร.ก. บริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. ...ใน 2 เรื่องใหม่คือ 1.เรื่องการจัดเขตที่พักอาศัย (โซนนิ่ง)ให้แรงงานต่างด้าวพักอาศัย ซึ่งเดิมจะอยู่ในพื้นที่ที่ทำงานของนายจ้างแต่กฎหมายใหม่ให้กำหนดเป็นโซนนิ่ง 2. เรื่องการกำหนดอัตราโทษที่ไม่สัมพันธ์กับฐานความผิด

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 แหล่งข่าวให้ความเห็นว่าการที่ครม.ตีกลับร่าง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว แสดงให้เห็นว่าการบังคับ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีแนวโน้มจะขยายเวลาบังคับใช้ออกไป ต้องมีการปรับแก้ทั้งในเรื่องกระบวนการบริหารนำเข้าและพิสูจน์สัญชาติของแรงงานที่เป็นปัญหามาก และบทลงโทษที่มีความเป็นไปได้ว่า1.จะปรับลดเพดานขั้นตํ่า-ขั้นสูง เช่นยกเลิกฐานขั้นตํ่าแต่คงฐานขั้นสูงที่ 8 แสนบาท แทนที่จะกำหนดฐานขั้นตํ่าลงมาที่ 2 แสนบาท (จากเดิม 4 แสนบาท ) เพราะจะทำให้โทษหนัก-โทษเบาเท่ากัน 2.ลดทั้งฐานขั้นตํ่าและขั้นสูงลงมา

เกี่ยวกับประเด็นนี้นายสราวุธกล่าวว่า การที่ ครม.ตีกลับเรื่องการจัดโซนนิ่ง จากที่ร่างพ.ร.ก. ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจประกาศกำหนดโซนนิ่ง) สำหรับผู้รับอนุญาตให้ทำงานเฉพาะจำพวกใดหรือท้องที่ใดก็ได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความปลอดภัยสาธารณะเพราะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับการไปจำกัดอิสรภาพแรงงานต่างด้าวและความคิดเห็นของ Human Right ก็ติงเรื่องนี้มาก

“ประเทศไทยไม่ควรจะไปจัดโซนนิ่งแรงงานต่างด้าว เหมือนที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ทำ เพราะของไทยกับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้วัฒนธรรมใกล้เคียงบางพื้นที่เช่นจ.สมุทรสาคร คนไทยกับเมียนมาใช้ชีวิตแต่งงานด้วยกันก็หลายคู่ ไม่เหมือนที่สิงคโปร์ แรงงานข้ามชาติจะต่างสีผิว วัฒนธรรมต่างกันมาก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว