โลกที่เปลี่ยนไป... ตลอด “รัชกาลที่ 9”

19 ต.ค. 2560 | 14:11 น.
TP14-3306-A
บทความ :: โลกที่เปลี่ยนไป... ตลอด “รัชกาลที่ 9” โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ | การถ่ายทอดสดจากสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2559 ทำให้หัวใจคนไทยพองโต ทุกมุมโลกสรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวของเราเป็น “Statesman” สำคัญของโลก สิ่งที่พระองค์ทรงคิดและทำเพื่อพสกนิกรนั้นช่างเป็นที่รับรู้ ชื่นชม และยกย่องอย่างจริงใจจากทุกทวีป ทุกมุมโลก รวมทั้งจากสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่สหประชาติไปตั้งสำนักงานใหญ่อยู่

ผมตระหนักขึ้นเรื่อย ๆ ครับว่า รัฐสมัยที่ยืนนาน 70 ปี และเพิ่งจะจบลงนั้น ดูจะสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ชัดเจน น่าจะยิ่งกว่ารัชสมัยของกษัตริย์พระองค์ใดในโลก หรือน่าจะยิ่งกว่าสมัยดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีของชาติใด ด้วยความที่ยาวนานเป็นพิเศษ เพราะเริ่มตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทีเดียว


TP14-3306-3A

… สงครามเย็นช่วงต้นรัชสมัย ...
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2489 นั้น สหประชาชาติเองเพิ่งมีอายุไม่กี่เดือน ไทยเข้าเป็นสมาชิกอันดับที่ 55 โปรดทราบครับว่า ประเทศเอเชีย รวมทั้งเพื่อนบ้านของเราทั้งหมด และประเทศแอฟริกาและลาตินอเมริกา ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเอกราช และเหตุนี้ จึงไม่ได้เข้าสหประชาชาติ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเราขึ้นครองราชย์นั้น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คือ แฮร์รีทรูแมน, กษัตริย์อังกฤษ ขณะนั้นยังเป็นคิงจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของควีนองค์ปัจจุบัน ส่วนนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ คือ คลีเมนต์ แอตลี, ผู้นำโซเวียตเวลานั้น คือ สตาลิน, สงครามจีนรบจีนระหว่าง เหมา เจ๋อ ตง กับ เจียง ไคเช็ก ยังไม่ยุติ, อินเดียยังไม่ได้เอกราชจากอังกฤษ

ในปี 2489 ที่เริ่มปีที่ 1 ของรัชกาลนั้น สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลกแล้ว เป็นชาติเดียวที่มีระเบิดปรมาณู ขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน ใหญ่แค่ไหน ใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกทีเดียว ต้นรัชกาลที่ 9 นั้น จะตรงกับการเริ่ม “สงครามเย็น” ในระดับโลกพอดี ต้นรัชกาลไม่กี่ปีแรกนั้น เป็นช่วงเวลาที่ไทยพยายามจะเอาตัวรอดให้ได้จากการเข้าสู่สงครามโลก “ผิดฝ่าย” คือ ไปสู้รบกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกาเสียนาน ยุทธศาสตร์ของไทยขณะนั้น คือ โผเข้าสู่อ้อมกอดของสหรัฐฯ ชาติที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาแทนอังกฤษ ซึ่งสหรัฐฯ ก็ช่วยไทยเอาไว้พอสมควรจากเงื้อมมือของอังกฤษและฝรั่งเศส ความที่สหรัฐฯ เป็นหัวหน้าค่ายเสรี และความที่ไทยเองนั้นก็กลัวคอมมิวนิสต์มาแต่ต้น ทำให้ไทยเข้าสู่สงครามเย็นในฝ่ายสหรัฐฯ และความที่ไทยนั้นไม่คิดว่า ตนเป็นดังเช่นชาติ “ตะวันออก” อื่น ๆ ที่มักเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง จึงไม่ถนัดใจที่จะเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ซึ่งสมาชิกส่วนมากก็เพิ่งพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง “ตะวันตก” กลุ่มนี้จะพยายามรักษาความเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่าง “ค่ายเสรี” ที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำ และค่าย “สังคมนิยม” ที่มีโซเวียตเป็นหัวหน้า


TP14-3306-1A



… โลกเปลี่ยนสู่ “ยุคโลกาภิวัตน์” ...
สงครามเย็นในเอเชียนำมาสู่สงครามเกาหลี ในปี 2493 ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ต่อด้วยสงคราม “เดียนเบียนฟู” ระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนาม ในปี 2497 และต่อด้วยสงครามในเวียดนาม ลาว และเขมร ตราบจนนิกสันและคิสซิงเจอร์บินไปเยือนจีน ในปี 2515 นำมาสู่จุดพลิกผันใหญ่ในทางยุทธศาสตร์ คือ สหรัฐฯ ข้ามขั้ว ไปดึงจีนมาร่วมต้านทานโซเวียตในระดับโลกได้

ความ “สำเร็จ” ของไทยในยุคสงครามเย็น คือ รับความช่วยเหลือจำนวนมากจากสหรัฐฯ ในหลาย ๆ ทาง รวมทั้งทางเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่ายของฐานทัพสหรัฐฯ และทหารสหรัฐฯ หลายหมื่นคนทั่วประเทศ และแม้แต่การสร้างถนนเข้าไปสู่ภาคอีสานนั้น ก็ได้รับเงินค่าก่อสร้างจากสหรัฐฯ แต่ประเด็นคือ ไทยก็ไม่ได้เข้าสู่สงครามอย่างเต็มตัวและโจ่งแจ้ง ไม่เสียหายจากสงคราม อย่างที่เวียดนาม ลาว เขมร ได้รับหลายสิบปีต่อเนื่อง สันติภาพอันยาวนานจากปี 2489 จนถึงปี 2514 อันเป็นปีที่เราเฉลิมฉลอง 25 ปีแห่งรัชสมัย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยที่ได้รับการลงทุนจำนวนมากจากญี่ปุ่น อเมริกา และประเทศตะวันตกอื่น ๆ พัฒนาล้ำหน้าเพื่อนบ้านไปมากโข


TP14-3306-2A

เป็นอันว่า ภายใน 4 ทศวรรษของรัชสมัย โลกก็เปลี่ยนไปสู่ “ยุคโลกาภิวัตน์” ในความหมายที่ว่า โลกทั้งใบกลับกลายเป็นค่ายเดียวกันหมด มีสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจสูงสุดแต่ชาติเดียว


… “บูรพาภิวัตน์” เทียบตะวันตก ...
ตลอดรัชกาลอันยาวนาน พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนประเทศเพื่อนบ้าน เยือนสหรัฐอเมริกา เยือนยุโรป เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีกัน บรรดามิตรประเทศและพันธมิตรทั้งหลาย ในช่วงปี 2522-2532 ยังเห็นพระองค์ท่านทรงต้อนรับ เติ้ง เสี่ยว ผิง, เย่เจี้ยนอิง และหลี่เซียนเนี่ยน ที่เดินทางมาเยือนไทยหลายครั้งทีเดียว ที่เราได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงประคองผู้นำวัย 80 ปี ของจีนเหล่านั้น ขึ้นลงบันไดเครื่องบิน ซึ่งจีนขณะนั้น สาละวนอยู่กับการทูตที่จะอาศัยไทยนำพาอาเซียนไปต้านเวียดนามให้หยุดอยู่แค่ชายแดนไทยเท่านั้น

ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของรัชกาล โลกที่เปลี่ยนมามาก 60 ปีแล้ว ได้เปลี่ยนต่อไปอีก มากขึ้นอีก น่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นอีก กล่าวคือ “ตะวันตก” ทั้งมวลรวม ทั้งสหรัฐฯ นั้น แม้ว่ายังเป็นผู้นำของโลก แต่จีนและ “ตะวันออก” หลายชาติในหลายทวีปเติบโตเข้มแข็งรุ่งเรืองขึ้นมา ผมเรียกโลกยุคนี้ว่า “บูรพาภิวัตน์” หมายถึงด้าน “ตะวันออก” ของโลกพัฒนาขึ้นมารวดเร็วมาก สามารถเทียบเคียงหรือท้าทายกับ “ตะวันตก” และญี่ปุ่น ได้ไม่น้อยทีเดียว

โลกประมาณ 10 ปีมานี้ ไม่ได้อยู่ใต้การครอบงำหรือบงการของ “ตะวันตก” แต่ฝ่ายเดียวอีกแล้ว เมื่อต้นรัชกาลนั้น ไม่ว่าค่าย “เสรี” หรือค่าย “สังคมนิยม” ก็ล้วนมีฝรั่งหรือตะวันตกเป็นผู้นำทั้งสิ้น ส่วน “ตะวันออก” นั้น ล้วนยากจน ล้าหลัง อดอยากไม่น้อย เป็นเพียงผู้ตาม ลูกศิษย์ ลูกไล่ หรือบริษัทบริวารเท่านั้น


TP14-3306-4A

ในรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวที่เพิ่งจะสิ้นสุดลงนั้น “สงครามเย็น” ได้สิ้นสุดไป การผูกขาดครอบงำจากชาติอำนาจ “ตะวันตก” ได้ลดลงไปมาก “ตะวันออก” เข้มแข็งรุ่งเรืองร่ำรวยขึ้น “ตะวันตก” และ “ตะวันออก” มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันมากขึ้น ผสมกลมกลืน และเรียนรู้จากกันและกันได้มากขึ้น โปรดสังเกตว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศของเรานั้น แม้เป็นพระประมุขของโลก “ตะวันออก” ก็ทรงได้รับการสรรเสริญยกย่องไม่น้อยกว่าประมุข หรือผู้นำของ “ตะวันตก”


… 70 ปี แห่งสันติภาพ ...
ภาพสะท้อนของโลกเราที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย จากการมองผ่านรัชสมัยอันยาวนาน เป็นพิเศษของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของเรานั้น ยากมากที่จะเอาไปเปรียบเทียบกับยุคสมัยของประมุข หรือ ผู้นำ หรือ พระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกได้

ถ้าพอจะเทียบได้ อาจเป็นควีนเอลิซาเบธของอังกฤษ ซึ่งรัชสมัยอันยาวนานของพระองค์เป็นประจักษ์พยานอันยิ่งใหญ่ของการเปลี่ยนสหราชอาณาจักรจากมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ไปเป็นมหาอำนาจอันดับ 5 หรือ 6 ของโลก อย่างสงบสันติ พสกนิกรยังมีความสุขและความพอใจในชีวิตตน และชีวิตประเทศที่เปลี่ยนไปมหาศาลเช่นกัน

ส่วน 70 ปี ของรัชกาลที่ 9 นั้น คือ ประจักษ์พยานของประเทศตะวันออกค่อนข้างยากจนและล้าหลัง แต่รักษาเอกราชไว้ได้ ตลอด 200 ปี ที่ฝรั่งล่าเมืองขึ้นทั่วโลก ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นประเทศสำคัญของเอเชีย ศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน และอาเซียนที่ไทยมีส่วนสำคัญในการสร้างขึ้นมา ก็ได้กลายเป็นภูมิภาคที่สำคัญของโลกเชื่อมโยงเข้ากับจีน และอินเดีย 2 มหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจของโลกได้ง่ายดาย

ที่สำคัญยิ่งอีกอย่าง คือ ในตอนท้ายสุด คือ ทศวรรษที่ 7 ของรัชสมัยไทย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป หรือรัสเซีย ก็ตาม

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19-21 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว