สัญญาณยื้อ “กฎหมายลูก” ลากยาวเลือกตั้งกลางปี 62?

15 ต.ค. 2560 | 05:02 น.
ประกาศวันเลือกตั้งปีหน้า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เปิดประเด็นไว้ขณะเยือนสหรัฐอเมริกา จุดชนวนชุลมุนต่อเนื่อง เมื่อต่างตีความกันไปคนละทิศว่า จะประกาศให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 หรือ ประกาศภายในปี 2561 ว่า จะมีการเลือกตั้งวันไหนกันแน่

ที่สุดก็ชัดเจนขึ้นอีกขั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาค่ำสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า “จะมีการเลือกตั้งแน่นอนปลายปีหน้า (2561) คำว่า เลือกตั้ง คือ ประกาศวันเลือกตั้งนะ จากนั้นก็มีขั้นตอนดำเนินการต่ออีก 150 วัน” เป็นอันแน่นอนแล้วว่า ปี 2561 นั้น จะยังไม่มีการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เพียงแต่ปลายปีนี้กฎหมายลูกการเลือกตั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ จากนั้นต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน ตามรัฐธรรมนูญกำหนด

นั่นคือ วันเลือกตั้งจะมีขึ้นในครึ่งแรกปี 2562

เป็นไปตามที่ นายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้ในห้วงชุลมุนของความเห็นฝ่ายต่าง ๆ ที่ว่า คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แจ้งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คือ การส่งสัญญาณให้ สนช. พิจารณากฎหมายลูกการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2561
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ทั้งที่ขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำคลอดกฎหมายลูกมีกรอบเวลากำกับชัดเจน โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องส่งร่างกฎหมายลูกให้ สนช. ภายในวันที่ 1 ธ.ค. นี้ (240 วัน) นับแต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา

จากนั้น สนช. ต้องพิจารณาใน 60 วัน หรือ 2 เดือน แล้วส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ. ดูว่า เนื้อหากฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ รธน. หรือไม่ หากเห็นแย้ง ต้องแจ้ง สนช. ใน 10 วัน และตั้งคณะกรรมาธิการร่วม พิจารณาส่ง สนช. ให้ความเห็นชอบใน 15 วัน ด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4

ถัดมาคณะรัฐมนตรีต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกภายใน 90 วัน ก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้ หรือ 5-6 เดือน นับแต่ สนช. รับร่างกฎหมายลูกไว้พิจารณา


บาร์ไลน์ฐาน

ทั้งนี้ กรธ. ทำกฎหมายลูก 10 ฉบับเต็มเหยียด 290 วัน โดยนัดหมายส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ สนช. เป็นฉบับสุดท้าย วันที่ 28 พ.ย. นี้ ถ้าใช้เวลาเต็มที่ตามกรอบกฎหมายลูกการเลือกตั้งน่าจะบังคับใช้ครบ 4 ฉบับ ในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2561 ซึ่งต้องจัดให้มีการหย่อนบัตรเลือกตั้งใน 150 วัน หรือ ประมาณ ต.ค.-พ.ย. 2561

นี่คือ ในกรณีการทำกฎหมายลูกไม่สะดุดปัญหาอะไร

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า จะประกาศวันเลือกตั้งได้ปลายปี 2561 เท่ากับว่าการออกกฎหมายลูกเลือกตั้งต้องยืดเยื้อออกไปจากปกติ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้น 2 กรณี

1.สนช. โหวตคว่ำร่าง ก.ม.ลูก ฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือ ทั้ง 2 ฉบับสุดท้าย ที่ กรธ. จะส่งให้ โดยจะคว่ำได้ทั้งในวาระ 1 วาระที่ 3 หรือวาระพิจารณาร่างของ กมธ.ร่วม เป็นเหตุให้ต้องกลับมานับหนึ่งร่างกฎหมายลูกกันใหม่

ซึ่งกระแสจับตา “คว่ำ” ร่างกฎหมายลูกนี้ ประธาน สนช. ออกมาย้ำว่า อย่าระแวงงานในความรับผิดชอบของ สนช. จะทำให้เร็วที่สุด แต่ไม่ใช่การทำรวก ๆ แล้วไปยื่นให้ตีความคว่ำกฎหมายกันทีหลังให้วุ่นวายไปหมด หรือ

2.ยื่นศาล รธน. อาจในขั้นตอนหลัง สนช. โหวตผ่านกฎหมายลูกวาระ 3 อาจมี สนช. บางส่วนที่เห็นว่า เนื้อหาขัด รธน. เข้าชื่อกันร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมาย หรือ ในชั้นกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว เช่น กฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ กกต. ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หากศาลฯ ชี้ว่า กฎหมายลูกขัด หรือ แย้ง รธน. ทำให้ตกไป ใช้บังคับไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้าย ที่ตามกรอบเวลาน่าจะผ่านขั้นตอนนิติบัญญัติประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ในกลางปี 2561 หากมีการร้องและศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้กฎหมายตกไป ต้องกลับไปนับหนึ่งยกร่างกันใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 5-6 เดือน หรือถึงปลายปี 2561 อย่างที่นายกฯ เล็งไว้

ซึ่งกรณีต้องยกร่างกฎหมายลูกใหม่นี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกไว้ว่า ต้องทำอย่างไร และไม่มีกรอบเวลากำกับ จึงถูกจับตาไปในทางต่าง ๆ เช่น อาจต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางออก หรือจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. อุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเมื่อถึงทางตัน


TP14-3304-A

- แกะรอย 10 กฎหมายประกอบ รธน. -
โดยที่การเลือกตั้งผูกกับการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบสถานะการจัดทำร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด ดังนี้

1.กฎหมายลูกที่มีผลบังคับใช้แล้ว 3 ฉบับ
กรธ. ส่งร่างกฎหมายลูกให้ สนช. แล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ ในจำนวนนี้ผ่านกระบวนการจนประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว 3 ฉบับ ล่าสุด คือ กฎหมายพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญ คือ สมาชิกพรรคและการจ่ายค่าบำรุงพรรค ห้ามคนนอกชี้นำ ระบบการเลือกตั้งขั้นต้นผู้สมัคร ส.ส.พรรค เป็นต้น

อีก 2 ฉบับ ที่ประกาศไปก่อนหน้า คือ กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่แม้ประกาศใช้แล้วและกำลังสรรหา กกต.ชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่ต้องหลุดตำแหน่งทั้งคณะนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ กกต. เตรียมยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า กฎหมายลูกฉบับนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ อีกฉบับที่ประกาศใช้แล้ว คือ กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมือง มีผลให้การยื่นอุทธรณ์คดีเจ้าตัวต้องยื่นเอง หยุดนับอายุความถ้าหนี และให้พิจารณาคดีลับหลังได้
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

2.กฎหมายลูกที่รอประกาศใช้
อีก 4 ฉบับ ที่ กรธ. ส่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. มี 2 ฉบับ ที่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ กฎหมายลูกว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ผ่าน สนช. วาระ 3 แล้ว สนช. 39 คน ร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฯ วินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัด ให้ยกคำร้อง ประเด็นบทเฉพาะกาลให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งเดิมอยู่ต่อจนครบวาระ อีกฉบับ กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ สนช. โหวตวาระ 3 ยืนตาม กรธ. ให้กรรมการสิทธิฯ ชุดเดิมพ้นไปทั้งคณะ และสรรหาใหม่ ต้องจับตาว่า หลังประกาศใช้จะมีผู้ร้องศาล รธน. อีกหรือไม่

ส่วนอีก 2 ฉบับ อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียด หลังการรับหลักการวาระ 1 ได้แก่ ร่างกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่รับหลักการเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ รับหลักการเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา

3.กฎหมายลูก 3 ฉบับ เร่งจัดทำเพื่อเสนอเข้า สนช. ก่อนเส้นตาย
เหลือกฎหมายลูกที่ กรธ. กำลังเร่งยกร่าง เพื่อส่งเข้า สนช. ภายในเส้นตาย วันที่ 1 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ ประกอบด้วย ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่างเสร็จแล้ว ส่งไปขอความเห็นกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนสรุปส่ง สนช. ตามที่นัดไว้วันที่ 24 ต.ค. นี้


บาร์ไลน์ฐาน

อีก 2 ฉบับ เป็นชุดสุดท้ายและเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมาจากกลุ่มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญพิเศษ 10 กลุ่มอาชีพเลือกกันเอง จากระดับตำบล, อำเภอ, จังหวัด จนถึงระดับชาติ ที่จะส่งเข้า สนช. วันที่ 21 พ.ย. เพื่อหาตัว ส.ว.ชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญนี้ 50 คน ไปรวมกับที่ คสช. จะตั้งอีก 200 คน และมีอำนาจทัดเทียม ส.ส. คือ ร่วมโหวตเลือกหาตัวนายกฯ คนใหม่

และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะเป็นฉบับสุดท้าย นัดส่ง สนช. วันที่ 28 พ.ย. ทันเส้นตายฉิวเฉียด ซึ่งคราวนี้การเลือกตั้งจะเป็นระบบสัดส่วนแบบผสม คือ หย่อนบัตรเลือก ส.ส.เขตใบเดียว แต่เอาคะแนนมาคิดหาจำนวน ส.ส. ที่พรรคได้ของแต่ละพรรค ถ้ายังขาดให้เติมจากบัญชีพรรคที่เตรียมไว้จนครบตามสัดส่วน

ท่ามกลางการจับตาฉากการเมืองเรื่องยื้อวันเลือกตั้งจากนี้ จะมี “เหตุ” อะไรให้ สนช., พรรคการเมือง, กลุ่มอาชีพ หรือองค์กรอิสระ ยกขึ้นมาเพื่อคว่ำและต้องไปนับหนึ่งร่างกฎหมายลูกกันใหม่ เพื่อยึดไปให้ถึงวันประกาศเลือกตั้งปลายปี 2561 ตามโรดแมป คสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปักธงล่าสุด

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12-14 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1