อีอีซีวอร์ช ขอมีส่วนร่วม ร่างก.ม.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

09 ตุลาคม 2560
อีอีซี วอร์ช เดินสายยื่นหนังสือถึง"นายกรัฐมนตรี-ปธ.สนช.-กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างก.ม.อีอีซี-เลขาคณะกรรมการอีอีซี ขอภาคประชาชนมีส่วนร่วมร่างกฎหมายอีอีซี พร้อมชง 6 ข้อเสนอแนะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ตุลาคม 2560) ณ บริเวณห้องโถง ชั้นล่าง อาคารรัฐสภา 1 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 รับยื่นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ....จาก นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย และคณะผู้แทนกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch-อีอีซี วอร์ช) โดยนายสุรชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 กล่าวขอขอบคุณทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมพร้อมระบุว่า จะนำเรื่องนี้ส่งให้คณะกรรมาธิการฯเพื่อพิจารณาศึกษาต่อไป และอาจจะเชิญผู้แทนกลุ่มฯเข้าร่วมประชุมชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯด้วย ซึ่งจะนำเรื่องนี้เสนอให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงเพื่อพิจารณาให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ต่อไปด้วย

นอกจากนี้ได้เดินทางยื่นข้อเสนอแนะดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี,นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบัียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ด้วย

สำหรับข้อเรียกร้องที่ทางกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 1.รัฐต้องมีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวทางการจัดการปัญหาในระยะยาวอันเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชน

2.รัฐจะต้องไม่เร่งรัดโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อผลกระทบในวงกว้างที่ปัจจุบันมีการคัดค้านกันอยู่ โดยขอให้มีการศึกษาทางเลือกและผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน และต้องให้ประชาชนได้ร่วมพิจารณาความเหมาะสมของโครงการหรือทางเลือกที่ศึกษาด้วย เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โครงการท่าเรือแหลงฉบับ เฟส 3,โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และโครงการนิคมอมตะนคร แห่งที่ 2 (รอยต่อชลบุรี-ฉะเชิงเทรา) เป็นต้น

3.รัฐต้องมีการปฏิบัติตามมาตรา 77 ตามรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยสมบูรณ์ด้วยในกระบวนการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และ4.รัฐต้องจริงจังกับความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของประชาชนในภาคตะวันออก

1 พร้อมกันนี้ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ... ซึ่ง คณะกรรมาธิการฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์ www.ecco.or.th จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 รวม 6 ประการ คือ 1.รัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก่อนการดำเนินการใดของรัฐหรือก่อนที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ

2.การจัดให้มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรเพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกบอการ จะต้องไม่เป็นการลดหย่อนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และลดหย่อยหลักการระวังไว้ก่อนที่ได้มีกำหนดในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใด (ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....มาตรา 6 (2) )

2.1 การดำเนินโครงการใดภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชนตามที่มีกฎหมายกำหนด ให้ใช้คณะผู้ชำนาญการตามชุดคณะที่มี ไม่ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะ และไม่ให้กำหนดเวลาการพิจารณาเป็นการเร่งรัด เพื่อให้มีการพิจารณาให้ความเห็นเป็นไปอย่างครบถ้วนถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นไปอย่างอิสระ มีความรอบคอบ โดยคณะผู้ชำนาญการสามารถไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯก็ได้ (มาตรา 8)

2.2 การกำหนดให้สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นจากการกำหนดและการดำเนินการตามนโยบาย แผน และมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมตลอดทั้งแนวทางหรือมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายนั้น ไม่เหมาะสมเพียงพอ ควรที่จะมีการดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และดำเนินการนโยบาย แผน และมาตรการต่างๆให้สอดคล้องกับผลการศึกษา SEA (มาตรา 15 (3))

บาร์ไลน์ฐาน 3.การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง หรือมีกฎหมายขึ้นใหม่ เพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด (มาตรา 9)

4.การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ให้ชัดเจนแน่นอนโดยเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จะยกเว้นการนำกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองมาใช้บังคับในระหว่างการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงการพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และคณะกรรมการนโยบายจะมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบายและแผนตามาตรา 29 ในเรื่องใดไปพลางก่อนไม่ได้ (มาตรา 31) โดยต้องให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการจัดทำผังเมืองขึ้นใหม่ ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองไม่แล้วเสร็จ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามผังเมืองที่มีการประกาศบังคับใช้อยู่ (มาตรา 32)

5.ขอให้พิจารณาทบทวนกระบวนการจัดหาที่ดินเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ควรนำที่ดิน ส.ป.ก. (มาตรา 36) ที่ราชพัสดุ (มาตรา 53) ที่ดินของรัฐอื่นใด หรือที่ดินที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศหรือวัฒนธรรม เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หากจะมีการจัดหาที่ดินต้องให้เอกชนเป็นผู้จัดหาเอง

6.ประชาชนในภาคตะวันออกที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินควรได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและทำกินด้วย นอกจากนี้การได้รับสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดต้องมีเงื่อนไขเป็นไปเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (มาตรา 48) ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว