"สุรชัย" เชื่อคสช.จ่อปลดล็อคพรรค ลุ้นมติครม.10 ต.ค.

09 ตุลาคม 2560
รองประธานสนช. เชื่อ คสช.กำลังพิจารณาปลดล็อคพรรคการเมือง รอฟังมติครม. 10 ต.ค. คาดมีข่าวดีเร็วนี้ ปัดนายกส่งสัญญาณสนช.คว่ำกฎหมายลูก ชี้ทุกอย่างเดินตามขั้นตอน

วันนี้ (9ต.ค.60) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะต้องเกี่ยวโยงกับการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ว่า เรื่องการปลดล็อคคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้พรรคการเมืองทำกิจการรมได้นั้น เชื่อว่าทางคสช.กำลังพิจารณาอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งนี้ เชื่อว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ ไม่แน่อาจมีวาระดังกล่าวเข้าพิจารณาหรือไม่ ซึ่งตนก็กำลังติดตามรับฟังอยู่เพราะอยากรู้เหมือนกัน ว่ามติครม.จะออกมาอย่างไร

เมื่อถามว่าคสช.ยังไม่ปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม แต่กรอบเวลาของพรรคการเมืองเดินแล้ว จะมีผลอย่างไร นายสุรชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องนโยบายที่ไปผูกกับเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เชื่อว่าคสช.คงกำลังพิจารณาอยู่และน่าจะมีข่าวดีออกมาเร็วๆนี้

Surachai

นายสุรชัย ยังกล่าวถึงร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา ว่า ในส่วนของสนช.ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งจะนัดประชุมในสัปดาห์นี้ เพื่อทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เมื่อส่งมายังสนช.จะได้พิจารณาปรับปรุงไม่ให้เกิดความล่าช้า ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องความรอบคอบและความตั้งใจระหว่างสนช.และกรธ.

อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าต้องการทำงานอย่างกระชับเวลาจึงทำงานร่วมกัน ไม่เช่นนั้นหากมีความคิดเห็นที่แย้งกันก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมอีก ซึ่งอาจถูกตำหนิได้ว่าทำไมก่อนหน้านี้ไม่ทำให้เกิดความชัดเจน ดังนั้นเราจึงต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และเมื่อเข้าสนช.แล้วในวาระแรกทางสนช.ยังเปิดโอกาสให้กรธ.ส่งตัวแทนมาร่วมเป็นกรรมการด้วย เพราะหากมีอะไรโต้แย้งจะสามารถทำได้ทันที

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศวันเลือกตั้งปลายปี 2561 มีการส่งสัญญาณให้คว่ำกฎหมายลูกเพื่อให้การเลือกตั้งช้าออกไปหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า ไม่มีอะไรทั้งนั้น เหตุการณ์ปกติเดินเป็นไปตามขั้นตอนตามที่ตนพูดมา และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไร นายกรัฐมนตรีพูดในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบภาพรวมประเทศ และในฐานะหัวหน้าคสช. เวลาอาจบวกลบบ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับรายละเอียดหลักเกณฑ์กฎหมาย และขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ เช่น กฎหมายการเลือกตั้งส.ส. ก็ต้องฟังความคิดเห็นจากบรรดานักการเมืองทั้งหลายว่า เกณฑ์ใดที่คิดว่าก่อให้เกิดการเสียเปรียบได้เปรียบในเวลามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ในส่วนของผู้ออกแบบกฎหมายเชื่อว่าได้ออกแบบว่าทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ และสะท้อนประชาธิปไตยมากที่สุด

"ไม่ได้คิดว่าออกแบบเพื่อให้พรรคหนึ่งพรรคใดเสียเปรียบหรือได้เปรียบ  แต่การออกแบบดังกล่าวขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนได้เสียของแต่ละฝ่าย ดังนั้นคนที่เป็นคนกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีการเลือกตั้งก็ต้องคิดให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และนำสู่ประชาธิปไตย ซึ่งหลักคิดของคนทำงานและหลักคิดคนที่จะลงเลือกตั้งต่อไปในอนาคตอาจคิดไม่เหมือนกัน บนพื้นฐานที่เป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน ดังนั้นต้องรับฟังทุกฝ่ายเพื่อประสานประโยชน์ทางการเมืองและให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด"นายสุรชัย กล่าว

e-book