กรรมการปฏิรูปประเทศด้านยุติธรรมจัดทำแผนการปฏิรูป คาดแล้วเสร็จเดือนธ.ค.นี้

06 ตุลาคม 2560
กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เดินหน้าจัดทำแผนการปฏิรูป คาดแล้วเสร็จสิ้นเดือนธันวาคมนี้ หวังประชาชนเชื่อมั่นระบบยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมเปิดช่องทางรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน

org_8700665039

นายอัชพร จารุจินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและคณะ แถลงข่าวความคืบหน้าการจัดทำแนวทางปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ กำหนดเป้าของการปฏิรูปโดยยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก รวมทั้งได้นำผลการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาทบทวน และได้ประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับหน่วยงานด้านยุติธรรม รวมถึงกระบวนการยุติธรรมของทหารด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย มีความโปร่งใส ประชาชนและต่างชาติ เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม

โดยเบื้องต้นได้สรุปแนวทางการทำแผนปฏิรูป 7 ประเด็น ได้แก่ กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอน สร้างกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลน ทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สร้างกลไกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา กำหนดให้นำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสอบสวนคดีอาญา รวมถึงเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร ทั้งนี้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมบางเรื่องต้องดูงานของคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ด้วย เนื่องจากบางเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน อาทิ การถ่ายโอนภารกิจงานของตำรวจไปยังหน่วยงานต่างๆ หรือการแยกงานสืบสวนและสอบสวนของตำรวจ

นายอัชพร กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าจะสามารถจัดทำแผนปฏิรูปแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2560 จากนั้นจะนำแผนการปฏิรูปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน เพื่อพิจารณาก่อนส่งต่อไปยัง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต่อไป อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมบางด้านอาจจำเป็นต้องเสนอเป็นร่างกฎหมาย คณะกรรมการฯ ก็จะส่งร่างกฎหมายควบคู่ไปกับแผนปฏิรูปด้วย โดยผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนนำเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้เกิดสภาพบังคับในการปฏิรูปให้เกิดผลสำเร็จและยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ คณะกรรมการฯ จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล และกรมราชทัณฑ์ ควบคู่ไปกับการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางไปรษณีย์ ตู้ ปณ.33 รัฐสภา รหัส 10400 และผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม www.coj.go.th ทั้งนี้จะนำข้อมูลที่ได้รับมาพัฒนาปรับปรุงแผนการปฏิรูปให้มีความสมบูรณ์ ขายของ