'รัฐ' สอบตก! แก้ปากท้อง ผลสำรวจชี้ประชาชนปลื้มปกป้องสถาบัน

10 ก.ย. 2560 | 09:27 น.
สถาบันพระปกเกล้า-กระทรวงดีอี เปิดผลสำรวจประชาชนต่อนโยบาย “รัฐบาลประยุทธ์” พบพึงพอใจปกป้องเชิดชูสถาบันมากสุด สอบตกการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน เชื่อมั่นศาลยุติธรรมมากกว่าศาลอื่น

สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจเกี่ยวกับการให้บริหารสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ประจำปี 2560 โดยสำรวจประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 33,420 คน กระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24 เมษายน-15 พฤษภาคม 2560

tp16-3294-1a นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นประชาชนในประเด็นนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุดใน 5 อันดับแรกคือ การปก ป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 97.2% รองลงมาคือการจัดการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ 92.4% โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค 92.0 แก้ปัญหาบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ ทะเล 89.7% การควบคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล 80 บาท 89.4%

ส่วนความพึงพอใจต่อการรักษาความสงบภายในประเทศ 87.9% การจัดระเบียบต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 86.4% การจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 81.3% การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ 78.1% การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล 77.1% การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 73.1% นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้รับพึงพอใจ 69.9% ส่วนการปฏิรูปการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญ 68.5%

ขณะเดียวกันผลการสำรวจที่ประชาชนมีความพึงพอใจน้อยที่สุด 5 อันดับแรกคือ การแก้ปัญหาสินค้าอุปโภค บริโภคราคาแพง 43.9% การดูแลราคาพืชผล/ช่วยเหลือเกษตรกร 54% การสร้างสันติสุข-ความปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 62.1% การบริหารจัดการพลังงาน ด้านราคานํ้ามัน แก๊ส 65.5% และการปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี โครงสร้างภาษี 68.2%

tp16-3294-2a ด้านนางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พบว่า ประชาชน 57.6% เห็นว่าแก้ไขได้บ้าง และ 11.5% ระบุว่าแก้ไขได้อย่างมาก ส่วนการแก้ปัญหาด้านสังคม ประชาชน 59.4% ระบุว่าแก้ไขได้บ้าง ส่วนที่ระบุว่าแก้ไขได้อย่างมากมี 22.4%

ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์กรอิสระ ที่ประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมาก อันดับแรกคือ ศาลยุติธรรม 83.6% รองลงมาคือศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองมีสัดส่วนความเชื่อมั่นใกล้เคียงกัน คือ 80.3% และ 80.2% ผู้ตรวจการแผ่นดิน 71.8% คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 70.7% องค์กรอัยการ คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีระดับความเชื่อมั่นในช่วง 60-69%

นางถวิลวดี ยังกล่าวถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อบุคคล สถาบัน และหน่วยงานต่างๆ พบว่า ประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นและเชื่อมั่นมาก ตั้งแต่ 80% ขึ้นไป คือ แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ 86.4% แพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน 85.6% ทหาร 85.1% นายกรัฐมนตรี 84.8% ข้าราชการพลเรือน 82.3% และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 82.1%

tp16-3294-3a ขณะที่ความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันและการรับสินบนในการปกครองระดับประเทศ พบว่า ประชาชน 70% ระบุว่ามีคอร์รัปชันและรับสินบนในการปกครองระดับประเทศ โดยผู้ที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่บางคนคอร์รัปชัน 53.4% เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่คอร์รัปชัน 13.3%

ในการสำรวจครั้งนี้ ได้สอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อ สถาบันและหน่วยงานที่ตั้งขึ้นในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อาทิ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชาชนเชื่อมั่น 57.6% สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 54.9% กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 52.8% คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศยุทธ ศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) 47.6% ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีคนเชื่อมั่น 39.4% ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ 36.8%

จากการสำรวจเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อทหารพบว่า ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ปี 2555-2556) ประชาชนเชื่อมั่นต่อทหาร 79.4% และ 75.4% ต่อมาในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ ความเชื่อมั่นต่อทหารขยับขึ้นเป็น 84.1% ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์เป็น นายกรัฐมนตรี ในปี 2558 ความเชื่อมั่นพุ่งสูงถึง 85.9% ในปี 2559 หลังบริหารประเทศครบ 1 ปี ความเชื่อมั่นทหารลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 85.8% และปี 2560 ความเชื่อมั่นลดลงเป็น 85.1% สะท้อนว่า ภาพรวมในการดำเนินนโยบายรัฐบาลยังต้องมีการแก้ไข ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่า ประชาชน 59.4% เห็นว่ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจได้บ้าง

ทั้งนี้ผลสำรวจทั้งหลายทั้งปวงเสมือนกระจกเงาส่องไปยังรัฐบาล เพื่อเป็นแรงกระตุ้น ให้รัฐเร่งแก้ปัญหาโดยเฉพาะเรื่องปากท้องประชาชนให้เร็วที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,294 วันที่ 7 - 9 กันยายน พ.ศ. 2560
e-book-1-503x62