อัยการมัด‘ยิ่งลักษณ์’ 5ปมทุจริตคดีจำนำข้าว

24 ส.ค. 2560 | 05:16 น.
ในการยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร “โครงการรับจำนำข้าว” ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของ “พนักงานอัยการ” จำนวน 211 หน้านั้น ตอนหนึ่งฝ่ายโจทก์ได้ชี้ให้ศาลเห็นถึงการทุจริตที่เกิดขึ้น ตลอดจนพฤติการณ์ที่ปรากฏชัดแจ้งของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ระงับยับยั้งหรือป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้น รวม 5 ประเด็น ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ขอสรุปเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจมานำเสนอ

**พ่อค้า-โรงสีสวมสิทธิ์ชาวนา
1.การสวมสิทธิ์ชาวนา โดยปัญหาอยู่ในขั้นตอนแรกของการลงทะเบียนชาวนา และระบุจำนวนข้าวที่ชาวนาแต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะนำข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำ ซึ่งเรื่องนี้ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า อาจจะเกิดการทุจริตในมุมนี้ได้และจะส่งผลให้ชาวนาที่แท้จริงไม่ได้รับผลประโยชน์ตามความเป็นจริง จะมีการสวมสิทธิ์โดยพ่อค้า โรงสี หรือหน้าม้าต่างๆ

ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากคำให้การของพยานบุคคลจำนวนหลายปากยืนยันหนักแน่นในมุมนี้ ปรากฏตามรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว ว่า ไม่ได้ทำนาตามที่มีการระบุไว้ในใบประทวน มีการขายสิทธิ์ให้ผู้อื่นไป ซึ่งการให้การดังกล่าวเป็นการให้การต่อหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ทำการสอบสวน

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมีการทุจริตสวมสิทธิ์ชาวนาจริง จึงส่งผลให้ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ตกแก่ชาวนาโดยตรงแท้จริงนั้นฟังไม่ขึ้นและไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่เงินจำนวนกว่า 878,389 ล้านบาทนั้น มีบางส่วนที่ถูกทุจริตไปกับการสวมสิทธิ์ชาวนาไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และเมื่อพิจารณาประกอบกับรายงานวิจัยของ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนทั้งหมดแล้ว จึงเชื่อว่า มีเงินรั่วไหลไปโดยเปล่าประโยชน์หลายหมื่นล้านบาท

นอกจากนั้น นายระวี รุ่งเรือง ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายชาวนา ก็ได้เบิกความยืนยันว่า เป็นที่รู้กันทั่วไปในช่วงวันเวลาเกิดเหตุว่า มีการทุจริตในการสวมสิทธิ์ ซึ่งตอนแรกขายกันในราคาตันละ 1,000 บาท แต่พอชาวนาเริ่มรู้มากก็ขายกันในราคาตันละ 2,000-3,000 บาท และหากมีการรวมโควตาเพื่อสวมสิทธิ์ได้มากๆ จะทำให้รัฐเสียเงินเป็นจำนวนสูงมากทีเดียว แต่ที่ไม่มีข่าวไม่มีหลักฐาน เพราะเป็นการสมประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

**โกงความชื้นเกินเพดาน
2.การโกงความชื้น เรื่องนี้ได้ความจากพยานปาก น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ สรุปว่า การกำหนดความชื้นนั้นได้กำหนดไว้ ความชื้นสูงสุดต้องไม่เกิน 35% แต่มีชาวนาที่ถูกหักความชื้นไปสูงถึง 37% ซึ่งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งใดๆ กับประเด็นที่น.พ.วรงค์ เบิกความ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจึงเชื่อว่า มีชาวนาถูกโรงสีโกงความชื้นจริง

**พบข้าวผิดประเภท
3.การสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร จากการเก็บรักษาข้าวสารในโกดังหรือคลังสินค้าของ อคส. และ อ.ต.ก. ที่ปรากฏผลการตรวจสอบว่า มีข้าวไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน และข้าวผิดชนิด อยู่เป็นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการทุจริตของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยระบบของโครงการที่ออกแบบมาได้กำหนดให้บุคคล 3 ฝ่าย ในการตรวจสอบดูแลคุณภาพของข้าวก่อนที่จะนำเข้าเก็บในโกดังหรือคลังสินค้าเพื่อรอการระบายต่อไป หากขั้นตอนหลักเกณฑ์วิธีการที่จำเลยกล่าวอ้าง และตามที่พยานจำเลยเบิกความประเด็นนี้ว่า ข้าวส่วนใหญ่หรือทั้งหมดที่เก็บรักษาอยู่ในโกดังหรือคลังสินค้าต้องเป็นข้าวดีมีคุณภาพ ไม่ใช่มีข้าวผิดชนิด ข้าวเน่า ข้าวเสีย และข้าวไม่ได้มาตรฐานอยู่เป็นจำนวนมาก

ประกอบกับคณะกรรมการตรวจสอบที่มีสภาหอการค้าฯ ร่วมอยู่ด้วยได้เก็บตัวอย่างข้าว จำนวน 11,926 ตัวอย่าง ไปตรวจดีเอ็นเอ โดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน มีผลการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ การที่ผลการตรวจสอบออกมาเช่นนั้น ส่วนหนึ่งย่อมมาจากการบริหารจัดการที่ไม่ดี และน่าเชื่อว่าเกิดการร่วมกันทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นแล้ว ย่อมไม่มีข้าวผิดชนิด อาทิ จากข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว แต่ตรวจออกมาเป็นข้าวคนละชนิดกัน

หากมีการสีแปรและเก็บรักษาตามชนิดข้าวที่ระบุไว้จริง สิ่งนี้ย่อมต้องไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าหากมีการเข้มงวดจริงจังตามที่จำเลยและพยานจำเลยกล่าวอ้าง การมีข้าวผิดชนิดเข้ามาปะปนในโกดังหรือคลังสินค้าย่อมไม่อาจมีได้ และจากการออกแบบรูปแบบวิธีการเก็บรักษาข้าวของจำเลย ย่อมส่งผลให้มีการเอาข้าวมาล้อมกองหรือสอดไส้ได้ง่าย ส่งผลยากต่อการตรวจสอบ เพราะข้าวมีจำนวนมากและต้องใช้เวลาอันยาวนาน จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า เหตุใดจึงออกแบบวิธีการเก็บรักษาข้าวมาเช่นเสมือนหนึ่งเป็นการป้องกันการตรวจสอบ

**ข้าวถูกไม่ถึงมือผู้บริโภคจริง
4.การทุจริตข้าวถุง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหาย เพราะไม่ได้ข้าวถุงราคาถูกจากรัฐบาลไปบริโภคตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ดำเนินนโยบายนี้อันเป็นวิธีการระบายข้าววิธีหนึ่งที่จะทำให้ข้าวสารราคาถูกถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง โดยปรากฏ ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบการระบายข้าว ในคณะกรรมการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ว่า ได้ทำการตรวจสอบและมีมูลทุจริตจริง ทั้งมีการอภิปรายเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ให้จำเลยรับทราบ และไปตรวจสอบอย่างจริงจังเพราะเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว

แต่จำเลยไม่ตอบ และก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบใดๆ อย่างจริงจัง แถมปรากฏข้อเท็จจริงที่ชวนสงสัยว่า ในการแต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการ 13 คณะของจำเลยมี พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง จำเลยที่ 3 ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวมอยู่ในคำสั่งด้วยเสมอ ซึ่ง พล.ต.ท.ยุทธนา ก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานการประชุม และจากการไต่สวนคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หมอโด่ง เป็นตัวการหรือกลจักรสำคัญในการทุจริตการระบายขาวแบบรัฐต่อรัฐและข้าวถุง และที่สำคัญในชั้นพิจารณาปรากฏว่า หมอโด่งได้หลบหนีไม่มาสู้คดีในศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน อันเป็นการผิดวิสัยของสุจริตชน

**เร่งรีบทำสัญญาจีทูจี
5.เรื่องการทุจริตในขั้นตอนระบายข้าว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญหรือคำตอบสุดท้ายในโครงการรับจำนำข้าวของจำเลยว่า ได้ดำเนินโครงการไปเพื่อประโยชน์สุดท้ายของผู้ใด ปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า โครงการรับจำนำข้าว ได้กำหนดขั้นตอนระบายข้าวไว้ 5 วิธี ซึ่ง 1 ในนั้น คือ การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยโครงการของรัฐบาลฤดูกาลผลิต 2554/55 เริ่มโครงการวันแรกคือ วันที่ 7 ตุลาคม 2554 แต่ปรากฏ ว่า วันที่ 6 ตุลาคม 2554 มีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไปจำนวน 2 สัญญา จำนวน 2.195 ล้านตัน และ 2 ล้านตันตามลำดับ รวมปริมาณ 4.195 ล้านตัน

โดยสัญญาแรกนั้นเป็นการขายข้าวเก่าสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาที่ยังมีค้างสต๊อกอยู่ ส่วนสัญญาที่ 2 ขายข้าวใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในโครงการปีการผลิต 2554/55 ซึ่งจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พยานหลักฐานมีนํ้าหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า มีการทุจริตอย่างชัดแจ้ง และเมื่อฟังประกอบกับพยานหลักฐานที่ได้มีการไต่สวนในคดีจีทูจี ที่โจกท์ได้อ้างไว้ในบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นที่ยุติโดยปราศจากสงสัยว่า การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยมี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กับพวก และเป็นผู้ที่จำเลยสั่ง การให้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังมีการอภิปรายของน.พ.วรงค์ และคณะนั้น มีการทุจริตจริงรายละเอียดปรากฏตามคำแถลงการณ์ปิดคดีระบายข้าว

และกรณีนี้มีข้อสังเกตว่า การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ใน 2 สัญญา หากไม่มีการตระเตรียมการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อทุจริตในช่องทางระบายข้าวมาแต่ต้น ย่อมไม่สามารถทำได้รวดเร็วขนาดนี้ แสดงว่าย่อมมีการเตรียมการทุจริตของผู้เกี่ยวข้องมาเป็นอย่างดี

Tp14-3290-1 **ไม่ระงับยับยั้ง-ตรวจสอบ
วันที่ 7 ตุลาคม 2554 สำนักงาน ป.ป.ช.มีหนังสือด่วนมาก ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 เพื่อยืนยันข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ในการแก้ปัญหาการทุจริตจากการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลด้วยวิธีการรับจำนำ เพื่อให้จำเลย และครม.นำไปประกอบการพิจารณา โดยชี้ให้เห็นว่า มีปัญหาการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำข้าว มีบุคคลบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ รัฐบาลควรยกเลิกโครงการ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้แนบเอกสารรายงานการวิจัยโครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริตของ ทีดีอาร์ไอ ไปให้จำเลยด้วย โดยการวิจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่า บริษัทที่มีปัญหาทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวสมัยยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ บริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด หรือบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ซึ่งเป็นของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง กับพวกนั่นเอง

ต่อมา ธ.ก.ส.ได้มีหนังสือและเอกสารที่เกี่ยวข้องถึงจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีประธานกรรมการ กขช.และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แต่ไม่ปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า จำเลยและครม.ได้ร่วมกันนำคำเตือนเกี่ยวกับการทุจริตของบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด หรือสยามอินดิก้า ไปป้องกันหรือระงับยับยั้งการทุจริตที่จะเกิดขึ้น ให้เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

พนักงานอัยการ ยังได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้านับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2554 จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 รวมระยะเวลา กว่า 1 ปี 3 เดือน มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยทุจริตไปแล้วรวม 4 สัญญา วงเงิน กว่า 60,000-70,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม แต่จำเลยก็ยังเพิกเฉยละเว้นไม่ดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังกับบริษัทสยาม
อินดิก้าฯ นายอภิชาติ กับพวก และยังปล่อยให้มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวดังกล่าว ในทำนองเร่งรีบอีก 4 สัญญา รวมทั้งหมด 8 สัญญา โดย 4 สัญญาหลังนี้มีปริมาณข้าวสูงถึง 14 ล้านตัน มูลค่าเกินกว่า 140,000 ล้านบาท

รวมระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน ที่จำเลยยังคงทำหน้าที่เป็นประธาน กขช. หาได้ตระหนักอย่างแท้จริงและพึงระมัดระวังอย่างที่ควรจะเป็นไม่ รวมทั้งไม่ปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยอย่างเข้มงวดโดยติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจริงจังเพื่อเอาผิดกับบริษัทสยามอินดิก้าฯ ปล่อยให้มีการทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มีการเบิกจ่ายข้าวตามสัญญาต่อไป โดยไม่สั่งระงับยับยั้งแล้วทำการตรวจสอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดวิสัยและผิดมาตรฐานของคนเป็นนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช.ที่มีหน้าที่โดยตรงในการติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการและโครงการที่อนุมัติเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งหมดทั้งมวลถือเป็นข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์คือ อัยการสูงสุด ที่มีต่ออดีตนายกฯ ส่วนผลการตัดสินของศาลจะออกมาเป็นเช่นไร ต้องรอลุ้นกันวันที่ 25 สิงหาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560