กรธ. เตรียมส่งความเห็น แก้ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองวันนี้

05 ก.ค. 2560 | 11:03 น.
“อุดม” เผย กรธ. เตรียมส่ง ความเห็น แก้ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง วันนี้ ชี้ มี 3 ประเด็นใหญ่ ในระบบไพรมารีโหวต

นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ( กรธ.) เตรียมส่งความเห็นถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ทบทวนและแก้ไขบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ภายใน 10 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันนี้ (5 ก .ค.2560) หลังจากที่ กรธ. หารือร่วมกันแล้วว่าจะมีประเด็นที่นำไปสู่การขัดหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีการเลือกตั้งที่กำหนดให้ว่าต้องทำอย่างโปร่งใส ได้แก่ 1.ระบบการเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนของพรรคการเมืองส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือ ไพรมารี่โหวต ที่พบว่าเนื้อหาไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสอบผลของไพรมารี่โหวต หรือข้อร้องเรียน แม้ในร่างกฎหมายจะกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้ลงนามรับรอง แต่กรณีที่มีบุคคลที่ร้องเรียนว่าการเลือกตั้งตัวแทนไม่โปร่งใส ร่างกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นถือว่าอาจจะขัดต่อหลักการเลือกตั้งที่โปร่งใสได้

สภา 2.ระบบไพรมารี่โหวตที่อาจมีผลกระทบต่อระยะเวลาการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรณีที่บางเขตเลือกตั้งต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตามเงื่อนไขต้องเข้าระบบไพรมารี่โหวตก่อน แต่ด้วยระยะเวลาการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งซ่อมอาจจะทำไม่ทันและมีปัญหาได้ และ 3.ประเด็นการกระทบสิทธิของประชาชนและพรรคการเมืองต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยหลักการของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าเมื่อพรรคถูกจัดตั้งแล้ว พรรคมีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ แต่กรณีที่กำหนดให้ใช้กระบวนการไพรมารี่โหวตในเขตเลือกตั้ง นั้นอาจมีผลกระทบต่อประเด็นการจำกัดตัวเลือกของผู้สมัคร ส.ส.ของประชาชนได้

“ในหลักการเราไม่ขัดข้องกับไพรมารี่โหวต แต่ต้องทำระบบให้มีความสมบูรณ์และไม่ก่อให้เกิดปัญหาภายหลัง ซึ่งผมได้คุยกับกรรมการของพรรคการเมือง มีมุมมองด้วยว่ากรณีที่การส่งผู้สมัครของพรรคให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งเลือกในขั้นต้น อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งหมดได้ เพราะภายในพรรคมีกลุ่มก๊วน ที่เป็นฝ่ายเดียวกันอยู่ หรือเป็นอดีต ส.ส.ดั้งเดิม แต่ในปีที่มีการเลือกตั้งอาจจะมีคนรุ่นใหม่ที่อยากลงสมัคร เมื่อจัดเลือกตั้งขั้นต้น คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพอาจไม่ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งขั้นต้นได้ เพราะยังไม่เป็นที่รู้จัก” นายอุดม กล่าว

สำหรับการส่งประเด็นโต้แย้ง เพื่อของ ให้สนช. แก้ไข ตนเชื่อว่าจะไม่ถูกตีตกเหมือนกับการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แน่นอน เพราะประเด็นที่กรธ.จะส่งไปนั้น นอกจากจะมีประเด็นรายละเอียดแล้ว จะมีข้อเสนอต่อการปรับปรุงบทบัญญัติแนบไปด้วย เพื่ออภิปรายและอธิบายให้ที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายพิจารณา