ชง‘ชีพ’ปธ.ศาลฎีกา‘วิชา’มั่นใจไม่เกิดวิกฤติตุลาการซ้ำรอยปี 2534

06 ก.ค. 2560 | 03:48 น.
“วิชา” มั่นใจมติ ก.ต.เบรก “ศิริชัย” ประธานศาลฎีกา ไม่ซํ้ารอยวิกฤติตุลาการ ชี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายบริหารกับตุลาการ แต่เป็นการทำหน้าที่บริหารงานบุคคล อนุก.ต.ถกชงชื่อ “ชีพ จุลมนต์” 6 ก.ค.

กรณีคณะกรรมการ ตุลาการยุติธรรม (ก.ต.) มีมติเอกฉันท์ไม่เห็นชอบแต่งตั้งนายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา เนื่อง จากเห็นว่าเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมในตำแหน่งดังกล่าว แม้จะเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดก็ตาม ส่งผลให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะซํ้ารอยวิกฤติตุลาการ ปี 2534 กรณี แข่งขันกันระหว่างนายสวัสดิ์โชติพานิช ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด กับนายประวิทย์ ขัมภรัตน์ จนเกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในแวดวงตุลาการหรือไม่

นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ให้ความเห็นถึงการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ว่า จะไม่เกิดปัญหาวิกฤติตุลาการซํ้ารอยในอดีตแต่อย่างใด เพราะมติของ ก.ต.ที่ไม่เห็นชอบแต่งตั้งนายศิริชัย เป็นประธานศาลฎีกา เป็นเรื่องการบริหารของฝ่ายตุลาการโดยแท้ เป็นความเห็นหรือเป็นการพิจารณาของฝ่ายตุลาการที่ทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคล ไม่ใช่เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ

[caption id="attachment_174828" align="aligncenter" width="503"] วิชา มหาคุณ วิชา มหาคุณ[/caption]

นายวิชา ขยายความว่า วิกฤติตุลาการเกิดขึ้นยุคหลังนายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา กับนายประวิทย์ ขัมภรัตน์ เป็นกรณีโต้แย้งกันระหว่างกระทรวงยุติธรรม และ ก.ต. จึงกลายเป็นวิกฤติ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนว่า เวลาที่จะพิจารณาท่านใด จะให้ดำรงตำแหน่งใด ควรมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอย่างไรบ้าง

ส่วนกรณีที่ มติก.ต.ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งนายศิริชัย เพราะมีการโต้แย้งคัดค้านว่า นายศิริชัย มีปัญหาเรื่องการเพิกถอนคำสั่งให้โอนสำนวนคดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เมื่อเราให้ความเป็นอิสระกับฝ่ายตุลาการที่เขาพิจารณาตัดสินคดีแล้ว ปัญหาคือถ้าหากว่าการโอนสำนวนไปให้องค์คณะอื่น เป็นผู้ตัดสินแทนต้องมีคำตอบว่า สิ่งที่ท่านทำนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจ ตรงนี้คือปัญหาใหญ่ แม้แต่ศาลปกครองสูงสุดเอง การที่จะเปลี่ยนสำนวน หรือโอนสำนวน ในที่สุดก็มาเป็นประเด็นว่าการโอนสำนวนประเด็นชอบหรือไม่ชอบ

นายวิชา กล่าวยํ้าว่า มติ ก.ต.ที่ออกมาในครั้งนี้ เป็นเรื่องการบริหารจัดการในเรื่องของคดี ซึ่งตุลาการกลัวมาก เพราะศาลฎีกา เป็นศาลที่มีอำนาจสูงสุด ในการพิจารณาคดีในเรื่องขององค์คณะ หากผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เป็นองค์คณะ ไม่มีอำนาจอิสระอย่างเต็มที่ หรือไม่มีอิสระอย่างแท้จริง มีการแทรกแซงโดยการสั่งโอนสำนวน หรือมีการเข้ามาตรวจสอบว่าคดีที่มีการพิจารณาไปแล้วมันถูกต้องหรือไม่ เช่น ลงโทษเป็นยกฟ้อง การโอนสำนวนมันก็จะถูกหวาดระแวงว่า เป็นไปตามที่ท่านผู้เป็นประธานต้องการหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าองค์คณะที่ไม่แข็งจริง องค์คณะก็จะโอนอ่อนผ่อนตาม กระบวนการยุติธรรมมันก็จะไม่เกิดความยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง ถ้ามีปัญหาอย่างนั้น แต่เราก็ไม่อยากเข้าไปล้วงลูกลงไปว่า รายละเอียดจะเป็นอย่างไร

อดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ให้แง่คิดว่า เวลาที่เราจะสั่งให้ใครเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี มันไม่ใช่เป็นการจับสลาก ระบบแบบนี้เป็นระบบที่ผู้พิพากษาต้องการคนที่เขาไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง จะเอาแต่คนที่ใกล้ชิด ตามใจผมมาก ผมก็ให้คดีไปมาก อะไรอย่างนี้ ผมพูดอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นจะเห็นได้เลยว่า กระบวนการในการบริหารจัดการมันจะเสียหาย เรื่องการบริหารคดีเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และอยากเรียนว่า ประชาชนทั้งหลายจะได้รับโอกาสในความยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ก็อยู่ที่การส่งคดีว่าจะให้สำนวนตกกับใครนี่แหละ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้เผยแพร่บัญชีรายชื่อโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตุลาการบัญชี 1 ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อที่สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้เสนอ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรเสนอรายชื่อเป็นประธานศาลฎีกาคนที่ 44 ต่อจาก นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ที่จะหมดวาระบริหาร ในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อให้อนุก.ต.ทั้ง21 คน ร่วมพิจารณารายชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรเสนอรายชื่อเป็นประธานศาลฎีกา

ซึ่งคณะอนุก.ต.ทั้ง 3 ชั้น ศาล รวม 21 คน จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 6 กรกฎาคม เพื่อพิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติผู้ที่ถูกเสนอชื่ออย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้ข้อสรุปและเสนอบัญชีรายชื่อต่อ ก.ต.ที่มีกำหนดนัดประชุม เพื่อลงมติเลือกประธานศาลฎีกาอีกครั้งในเวลา 13.00 น.ของวันที่ 11 กรกฎาคมนี้

การประชุม อนุก.ต.ครั้งนี้ก็จะมีขั้นตอนการกลั่นกรองคุณสมบัติเหมือนที่มีการพิจารณานายศิริชัยว่า จะมีข้อเท็จจริงประวัติการทำงาน เรื่องร้องเรียนหรือ การประเมิน เรียกว่าดูทุกด้านในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะต้องเสนอประวัติเพื่อให้อนุ ก.ต. พิจารณา หากมีข้อเท็จจริงที่ยังไม่กระจ่าง หรือมีข้อมูลใหม่ ที่อนุ ก.ต.ได้รับมาที่ไม่มีในประวัติที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอมา ก็จะเรียกผู้ที่ถูกเสนอชื่อมาไต่สวนให้ข้อมูลเพิ่มได้อีก และถ้าหากจำเป็นก็อาจจะมีการเรียกพยานมาไต่สวนเพิ่มก็ได้

“อย่างตอนที่มีการพิจารณานายศิริชัย ที่อนุก.ต.เสียงข้างมากไม่ผ่านนั้น ปรากฏว่ามีข้อมูลที่มีการร้องเรียนนายศิริชัย เข้ามามากทั้งจากฝ่ายเลขาฯ และตัวกรรมการยกเข้ามาด้วย จึงมีการประชุมหลายครั้ง และมีการเรียกบุคคลในบัญชีรายชื่อเข้ามาชี้แจงและมีการเรียกพยานมาไต่สวน”

ส่วนในวันที่ 6 กรกฎาคม สำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอชื่อ นายชีพ จุลมนต์ เข้าที่ประชุม อนุก.ต.ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหา และเชื่อว่าจะได้ข้อสรุป เพื่อเสนอบัญชีรายชื่อต่อ ก.ต.ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560