สนช. เตรียมพิจารณา พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว เพื่อเป็น พ.ร.บ. 6 ก.ค. นี้

05 ก.ค. 2560 | 08:45 น.
สนช. เตรียมพิจารณา พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่รัฐบาลเสนอ เพื่อมีผลบังคับใช้เป็น พ.ร.บ. วันพฤหัสบดีที่ 6 ก.ค. นี้ พร้อมย้ำ คสช.ออกมาตรา 44 ช่วยเยียวยาการบังคับใช้ในบางมาตรา

นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงว่า การประชุม สนช. ในวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม นี้ จะมีการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “บุคลากรในกระบวนการดูแลผู้สูงอายุ” ที่คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส พิจารณาเสร็จแล้ว และรับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี เรื่องการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ส่วนในวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม จะเป็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด รวมทั้งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ที่คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และ 3 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ

photo  สำหรับขั้นตอนการพิจารณา พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งรัฐบาลเสนอเข้ามานั้น สนช.จะต้องพิจารณาลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาได้ หากสภามีมติเห็นชอบจะอนุมัติเป็น พ.ร.บ. แต่หากไม่เห็นชอบกฎหมายดังกล่าวย่อมตกไป สำหรับกรณี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวนั้น รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในด้านความมั่นคงและแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่สะสมมานานเนื่องจาก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 มีบทบัญญัติที่ยังไม่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งย่อมมีผลกระทบในวงกว้าง จึงออกมาตรา 44 เพื่อเยียวยาการบังคับใช้ในบางมาตราออกไปก่อน ทั้งนี้ ผลของกฎหมายดังกล่าวจะไม่ขัดแย้งกับมาตรา 44 เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับ