นครินทร์”ชี้ 3 องค์ประกอบสำคัญของ“ประชาธิปไตยเต็มใบ”

24 มิ.ย. 2560 | 07:55 น.
ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” หรือ“ประชาธิปไตยเต็มใบ” ซึ่งเป็นการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ว่า ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย 2-3 ประการ เริ่มตั้งแต่คนในสังคมส่วนใหญ่ต้องมีวิถีชีวิตประชาธิปไตย กล่าวคือ ต้องชอบการประชุม การอภิปราย โต้เถียง ชอบการเลือกตั้ง รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการการปกครองท้องถิ่น การปกครองของสมาคม และการปกครองดูแลตัวเอง

[caption id="attachment_168819" align="aligncenter" width="342"] ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[/caption]

ประการถัดมา เป็นเรื่องของอุดมคติหรืออุดมการณ์ที่ต้องคิดถึงความเสมอภาคของคนเป็นที่ตั้ง มองความเท่าเทียมกันทั้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ เป็นมนุษย์เหมือนกันไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการแบ่งแยก หรือถ้ามีความเหลื่อมล้ำก็ต้องทำให้ลดน้อยลงมากที่สุด ไม่ใช่ยิ่งทำให้เด่นชัดขึ้น เช่น มีบ้านสามารถขับรถเบนซ์ได้ก็ควรจะนั่งรถเมล์เหมือนคนธรรมดา แทนที่จะทานข้าวมื้อละแสนก็ทานข้าวธรรมดาเหมือนชาวบ้านเขา ต้องมีอุดมคติแบบนี้ ต้องทำความเหลื่อมล้ำแบบนี้ให้ลดน้อยลง

สุดท้าย คือ เรื่องระบอบการปกครองที่ต้องจัดโครงสร้างอำนาจประชาธิปไตยต่างๆ ซึ่งไม่ได้อยู่แค่ฝ่ายบริหาร แต่ต้องอยู่ที่สภาซึ่งมีระบบเลือกตั้งรองรับผ่านระบบพรรคการเมืองที่มีประชาธิปไตยอยู่ในพรรค มีโครงสร้างลงไปสู่ประชาสังคม คนมีเสรีภาพ เกิดจากการรวมตัวกันเป็นสมาคม เป็นพรรคการเมือง มีการปกครองท้องถิ่น เป็นที่ฝึกฝนให้พลเมืองรู้จักใช้สิทธิในการโต้เถียง ในการประชุม ติดตามงาน เพื่อการมีส่วนร่วมในงานภาครัฐ

ไม่ใช่ทำแค่การติดตามข่าวสารเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเสียสละเข้าไปดูแลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืองานของภาครัฐนั้นด้วย อาทิ การเสียภาษี การจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น กรณีที่มีพนักงานเทศบาลมาเก็บขยะ ถ้าคิดว่าเขาจะมาเก็บให้เราฟรีทั้งหมดแสดงว่า เราไม่รับผิดชอบในเรื่องของการเสียค่าธรรมเนียม