3 นักวิชาการ ฉายอนาคตประชาธิปไตยหลังมีรัฐธรรม 2560

23 มิ.ย. 2560 | 08:25 น.
“ชาติชาย” ชี้ ประชาธิปไตยไทย 85 ปี ไม่โต เหตุยึดติดโครงสร้างระบบอุปถัมภ์ เผย รธน. 2560 วางหลักคุมการใช้อำนาจรัฐเข้ม หวังแก้ปัญหา ด้าน “สิริพรรณ” ระบุ พลังพรรคการเมือง-ประชาชน ยังแตกแยก หวั่นอนาคต ไม่มีใครคานอำนาจ สว.แต่งตั้ง-นายกฯคนนอกได้ ด้าน“ปริญญา” ยัน รธน.ปัจจุบันต่อยอดอำนาจ คสช.

วันนี้ (23 มิถุนายน) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “85 ปี ประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหนดี?” นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) สะท้อนภาพประเทศไทยหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า ปัญหาหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา คือ การเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ระบบราชการมีอำนาจและบทบาทสูงมาก ซึ่งสถาบันทางการเมืองที่ควรเป็นหลักในการสร้างรากฐานประชาธิปไตยอย่างพรรคการเมืองก็ไม่มีความเข้มแข็งมากพอ และยังยึดติดกับโครงสร้างระบบอุปถัมภ์แบบเก่า จนทำให้ประชาธิปไตยไม่สามารถเติบโตเข้มแข็งได้ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้วางหลักการในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐอย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเบื้องต้นได้

[caption id="attachment_168160" align="aligncenter" width="351"] นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่[/caption]

ด้านรศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าที่ผ่านมาในทางวิชาการ ประเทศไทยไม่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หากแต่มีการวิเคราะห์ว่า เป็นการเมืองในรูปแบบผสมตลอดเวลา หากมองเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในต่างประเทศแล้ว ส่วนมากมักจะเกิดจากการร่วมมือกันของพลังฝ่ายต่อต้านเผด็จการที่แตกต่างกัน และบทบาทของผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งเมื่อดูในบริบทของประเทศไทย จะพบว่า พลังของทั้งพรรคการเมืองและประชาชนในฝ่ายต่างๆยังคงแตกแยกไม่สามารถรวมตัวกันได้ ซึ่งในอนาคตมีความน่ากังวล ว่าจะสามารถมีอะไรไปคานกับอำนาจของ สว.แต่งตั้งและนายกฯคนนอกได้หรือไม่

 

[caption id="attachment_168159" align="aligncenter" width="503"] ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล[/caption]

ขณะที่ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มองไปถึงแนวโน้มในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้วางกรอบสำหรับการต่อยอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจตามมาตรา 44 ยังคงบังคับใช้ได้อยู่ หรือการเปิดช่องให้การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หากไม่สำเร็จสามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้เรื่อยๆ