"อภิสิทธิ์"ชี้ไพรมารี่โหวต ส่อขัดรัฐธรรมนูญ

22 มิ.ย. 2560 | 07:08 น.
"อภิสิทธิ์" ชี้ปมไพรมารี่โหวต ส่อขัดรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น บังคับส่งลงทุกเขต เหตุมีผลต่อการคำนวณ ส.ส.จำกัดสิทธิพรรคการเมือง  ส่วนใช้ไพรมารี่โหวตจัดบัญชีรายชื่อ สวนทางเจตนารมณ์ ส่งผลไม่ได้คนหลากหลาย วอน กกต.เร่งออกระเบียบรองรับ ช่วยรับภาระจัดเลือกตั้งแทนพรรคการเมือง

Apisit-1

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการสรรหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยระบบไพรมารี่โหวต ตามร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ต้องดูว่าจะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมฯหรือไม่ ซึ่งก็คงพิจารณาได้เฉพาะประเด็นที่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญที่ต้องการเปิดกว้างให้ทุกพรรคการเมืองแม้ได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ก็ตามในเขตเลือกตั้ง คะแนนนั้นยังมีความหมายในการคำนวณจำนวนส.ส.ในสภา แต่กฎหมายพรรคการเมืองขณะนี้เพิ่มเงื่อนไขว่า การที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในเขตซึ่งแย้งกันอยู่ เพราะถ้าพรรคการเมืองไหนไม่สามารถมีสมาชิกจัดตัวแทนจังหวัดหรือสาขาได้ก็ไม่มีสิทธิ์ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กลายเป็นว่าใครที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสมาชิกพรรคการเมืองที่ตัวเองนิยมก็จะไม่มีสิทธิในการเลือกตัวแทนของพรรคการเมืองนั้น ซึ่งเมื่อก่อนไม่เป็นไรเพราะสภาพอย่างนั้นคงไม่สามารถสอบได้ แต่ในระบบของรัฐธรรมนูญใหม่ทุกคะแนนมีความหมายในการคำนวณส.ส.ในสภา

ส่วนประเด็นที่กำหนดให้การเรียงลำดับผู้สมัครบัญชีรายชื่อกลายเป็นเรื่องไพรมารี่น่าจะสวนทางกับเจตนารมณ์ของการมีบัญชีรายชื่อตั้งแต่ต้นที่ต้องการให้พรรคการเมืองจัดคนอีกกลุ่มหนึ่งมาลงสมัครรับเลือกตั้งทำงานให้พรรคการเมืองโดยไม่ผูกพันเรื่องการมีคะแนนเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ โดยหวังว่าจะดึงคนนอกวงการเมืองเข้ามาได้มากขึ้น

นอกจากนี้ระบบของบัญชีรายชื่อถ้ากรรมการบริหารเป็นคนที่พิจารณาก็จะให้ความมั่นใจในเรื่องความสมดุลเรื่องภาค เพศ และความหลากหลายในมิติต่าง ๆ แต่เมื่อใช้ระบบนี้ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้บัญชีรายชื่อที่กระจายไปตามภาค มีชายหญิงในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งไม่แน่ใจว่าทาง กรธ.หรือ สนช.ได้เห็นประเด็นแล้วจะพิจารณาหรือไม่ แต่ถ้าประกาศออกมาก็เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะบอกว่าปฏิบัติได้ เพียงแต่น่าเสียดายว่าการปฏิบัติจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ผู้เขียนคาดหมายไว้หรือไม่ เพราะถ้ายังยืนยันให้เป็นภาระของพรรคการเมืองในการจัดก็จะมีปัญหา เนื่องจากจังหวัดหนึ่งมีที่ลงคะแนนหนึ่งที่ คนในหลายพื้นที่ที่ต้องเดินทางไปก็มีโอกาสน้อยมาก เมื่อฐานแคบก็อันตรายต่อการถูกครอบงำเพราะไม่มีจำนวนคนมากพอที่จะไปลงคะแนน ที่ตนกล้าพูดเรื่องนี้เพราะพรรคประชาธิปัตย์คิดเรื่องนี้มาก่อนและเคยลองทำเมื่อช่วงปี2556-2557 แต่ไม่พอใจเพราะจำนวนสมาชิกที่มาลงคะแนนไม่มากพอ เนื่องจากต้องให้ลงคะแนนที่จุดกลางจุดเดียว จึงต้องดูว่าผู้เกี่ยวข้องจะทำอย่างไร

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า หากจะมีการแก้ไขในทางปฏิบัติก็ควรให้กกต.และรัฐมารับผิดชอบในการจัดไพรมารี่โหวต อำนวยความสะดวกให้พรรคการเมืองแทนที่จะเลือกตั้งในจุดเดียวมีคนใช้สิทธิประมาณร้อยกว่าคน ก็ช่วยทำให้มีคนมาลงคะแนนสักพันหรือหมื่นก็จะทำให้มีความสบายใจมากขึ้น โดยสามารถที่จะไปดำเนินการได้ทั้งในส่วนของกฎหมาย กกต. พรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง เพราะที่ตนถามคำถามไปหลายประเด็นก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน เช่น กรณีพรรคเก่าในช่วงการเลือกตั้งครั้งแรกจมีสมาชิกที่จ่ายเงินค่าบำรุงกับไม่จ่ายเงินมีสิทธิเหมือนกันหรือไม่ และสมมติว่าทำระบบไพรมารี่โหวตแล้วมีการร้องเรียนว่ากระบวนการไม่ชอบ ไม่สุจริตใครจะเป็นผู้ชี้ขาด ผลคืออะไร และการเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้งจะปฏิบัติมีปัญหาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความขลุกขลักในทางปฏิบัติ โดยในส่วนของกกต.บอกว่าถ้ามีการร้องเรียน กกต.จะดูว่าต้องมีใบเหลือง ใบแดงหรือไม่ ยิ่งทำให้เกิดความสับสน ทั้งนี้ตนเคยเรียนแล้วว่าระบบนี้ใช้ในการเมืองระบบรัฐสภาไม่มาก เนื่องจากไม่เหมือนกับรูปแบบประธานาธิบดีที่มีการเลือกตั้งแน่นอน 4 ปีครั้งมีเวลาล่วงหน้าเป็นปี แต่ในระบบรัฐสภาทำแบบนั้นไม่ได้ อีกทั้งในระบบนี้กรรมการบริหารพรรคและพรรคการเมืองต้องมีบทบาทพอสมควรในการคัดเลือกผู้สมัคร

ส่วนกรณีที่กฎหมายพรรคการเมืองไปพันกับกฎหมายเลือกตั้งส.ส. เพราะจะต้องรอให้มีการกำหนดเขตก่อนจึงจะดำเนินการเรื่องของตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตได้นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ากฎหมายพรรคการเมืองผ่านก็ขอให้เร่งรัดให้กระบวนการได้ กกต.และระเบียบกกต.ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น และเรื่องของอำนาจกรรมการสรรหาของพรรคการเมืองมีมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่ใช่ดูแค่ความนิยมแต่ต้องดูด้วยว่าอุดมการณ์ตรงกับพรรคหรือไม่ หากเปิดโอกาสให้คนสามารถระดมสมาชิกมาเลือกตัวเองได้ก็จะอันตราย จึงต้องตีความให้ชัดว่ากรรมการสรรหากลั่นกรองได้แค่ไหน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการร้องเรียนได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายออกมาก็ต้องเร่งให้กกต.ออกระเบียบ แต่เมื่อมีการเซ็ตซีโร่ก็ต้องรีบตั้งกกต.ใหม่มาออกระเบียบ แต่กรธ.คงไม่สามารถเร่งรัดออกกฎหมายเลือกตั้งได้เพราะหากมีผลบังคับใช้ก็ต้องเลือกตั้งภายใน 150 วัน จะยิ่งทำให้เวลาเตรียมตัวเรื่องอื่น ๆ ไม่เพียงพอ จึงมีการวางแนวไว้ว่าจะทำกฎหมายเลือกตั้งเป็นฉบับสุดท้ายเพื่อให้ทุกคนปรับตัวได้ก่อน