มติกกต.เปรี้ยง!เซตซีโร่ขัดรธน.3 มาตรา

20 มิ.ย. 2560 | 10:04 น.
กกต.ชง 6 ประเด็น แย้งร่างพ.ร.ป.กกต.ต่อ สนช.ศุกร์นี้ เสนอตั้งกมธ.ร่วม ยันปมเซตซีโร่ ขัดหลักนิติธรรม-นิติประเพณี  ด้าน"สมชัย"ชี้กกต.เห็นว่าร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่มีเนื้อหาขัดรธน. 5กกต.

นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมกกต.มีมติให้โต้แย้งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ใน 6 ประเด็นที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ คือ 1 มาตรา 11 วรรคสามมีการกำหนดเพิ่ม เรื่องการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นกรรมการสรรหากกต.ว่า ให้คัดเลือกบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเข้าใจภารกิจของ กกต.ไม่มีพฤติกรรมยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด ซึ่งถือว่าเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 203 ประกอบมาตรา 201 และมาตรา202 บัญญัติไว้

2.มาตรา 12 วรรคหนึ่ง มีการกำหนดเพิ่มเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า บุคคลที่จะเป็นกกต.ต้องไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด  ๆ  รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งเขียนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคท้าย ประกอบ 206 และ 222 บัญญัติไว้

3.มาตรา 26 ที่บัญญัติให้กกต.คนเดียวหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นทุจริตสามารถสั่งระงับ ยับยั้งการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งนั้นได้และให้รายงานต่อกกต.ทราบโดยเร็ว เห็นว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสามที่บัญญัติให้เรื่องดังกล่าวกกต.คนเดียวามีอำนาจเด็ดขาดดำเนินการได้โดยไม่ต้องรายงานต่อกกต.

4.มาตรา 27 ให้กกต.มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขณะที่ รัฐธรรมนูญมาตรา 224 (1)และ(2) บัญญัติให้กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เองหรือมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้

5.มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ที่ให้กกต.มอบอำนาจให้เลขาธิการกกต.หรือพนักงาน กกต.เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน  สอบสวน หรือไต่สวนได้  ซึ่งเป็นการเขียนเกินกว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสองที่บัญญัติให้อำนาจดังกล่าวเป็นของกกต. เท่านั้น

6.มาตรา 70 ที่ให้กกต.ปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยเห็นว่าบทบัญญัตินี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 26 และ 27 ในเรื่องของหลักนิติธรรมและหลักนิติประเพณีที่ปฏิบัติมา  ทั้งนี้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวของกกต. เป็นการประชุมลับ ซึ่งกกต.ก็จะส่งหนังสือแย้งดังกล่าวไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในเย็นวันศุกร์ที่ 23 มิ.ย.นี้

สำหรับประเด็นร่างพ.รป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ที่ประชุมเพียงแต่รับทราบถึงการที่สนช.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเชิญนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ด้านพรรคการเมืองไปหารือในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) แต่กกต.ยังไม่ได้รับร่างดังกล่าว จึงยังไม่มีความเห็นใด ๆ ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามหากไม่มีประเด็นที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติไม่ว่าจะยากหรือง่ายกกต.ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นการจะหารือในวันพรุ่งนี้ไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาของ กกต.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการพิจารณาข้อโต้แย้งทั้ง 6 ประเด็นของ กกต. 5 ประเด็น กกต.มีมติเอกฉันท์  มีเพียงประเด็นเรื่องคุณสมบัติ กกต. ที่ที่ประชุมมีมติ 3:2    โดยนายธีรวัฒน์  ธีรโรจน์วิทย์  และนายประวิช  รัตนเพียร  เป็น 2 เสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการแย้ง  สนช.เรื่องคุณสมบัติ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เปิดเผยว่า ในประด็นร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง เบื้องต้นที่ประชุมกกต.เห็นว่า ไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้กกต.ยังได้ไม่รับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งการที่กกต.ส่งผู้แทนไปหารือกับกรธ.ในวันพรุ่งนี้ตามคำเชิญ ก็เพราะว่ากกต.มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนี้มาแต่แรก  และหากท้ายที่สุดกกต.ไม่เห็นด้วยว่าร่างกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เรื่องของการเอาคืน แต่เราเห็นว่าเป็นเรื่องของแนวทางปฏิบัติซึ่ง ฝ่ายปฏิบัติของกกต.ก็ยืนยันต่อที่ประชุมกกต.ถึงแม้จะยากแต่ก็ทำได้