ลากยาว‘ร่างกฎหมายลูก’ ยืดโรดแมปเลือกตั้งตุลาฯ61

22 มิ.ย. 2560 | 03:15 น.
ไม่มีเค้าลางมาก่อนว่าจะมีความเห็นแย้ง หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติผ่านความเห็นชอบวาระ 3 ด้วยคะแนน 180 เสียง ก็มีข้อท้วงติงจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตามมาทันทีว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีการปรับแก้เนื้อหาโดยกมธ.วิสามัญฯ ต่างจากต้นร่างเดิมของกรธ.นั้น น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

นับเป็นกฎหมายลูกฉบับที่ 2 ที่เดินตามรอยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กฎหมายลูกฉบับแรกที่สนช.โหวตผ่านวาระ 3 ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้าเพียงสัปดาห์เดียว ที่กกต.ตั้งทีมกฎหมายขึ้นมาตรวจสอบว่าเป็นร่างพ.ร.ป.ที่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งกกต.จะประชุมในสัปดาห์นี้เพื่อมีมติอย่างเป็นทางการแจ้งประธานสนช. ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมต่อไป

ขณะที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)ที่กรธ.ส่งให้สนช.ต้นสัปดาห์นี้นั้น ก็มีสัญญาณเช่นกันว่า จะเป็นร่างกฎหมายลูกอีกฉบับที่จะถูกร้องว่าขัดเจตนารมณ์รธน. และต้องตั้งกมธ.ร่วมเพื่อให้สนช.วินิจฉัยซํ้าอีกครั้ง
ไม่แน่ว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสนช.เวลานี้ เมื่อผ่านการลงมติวาระ 3 ไปแล้ว อาจเจอชะตากรรมเดียวกัน เพิ่มความเสี่ยงเกิดจุดหักเหของโรดแมปคสช.ที่ถูกรุกเร้าทวงถามหนักขึ้นทุกวันได้ตลอดเวลา

++กรธ.ชี้พ.ร.บ.พรรคขัดรธน.
เดิมดูเหมือนทุกฝ่ายจะตอบรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่สนช.มีมติเห็นชอบวาระ 3 ที่ปรับแก้จากต้นร่างกรธ. 4 ประเด็น คือ 1.แก้ไขนิยามพรรค ระบุให้เพิ่มตำแหน่งเลขาธิการพรรคจากเดิมที่ระบุมีเพียงหัวหน้าพรรค เหรัญญิก และนายทะเบียนพรรค 2.ทุนประเดิมพรรคการเมือง 1 ล้านบาท โดยผู้ร่วมก่อตั้งชำระไม่ตํ่ากว่าคนละ 1 พันบาท แต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท จากเดิมไม่เกิน 3 แสนบาท โดยพรรคที่ยังไม่ชำระทุนประเดิมไม่มีสิทธิส่งผู้สมัคร

3.ค่าบำรุงพรรครายปี คนละไม่เกิน 100 บาท ปีแรก 50 บาท และ 4.การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้ระบบการเลือกตั้งขั้นต้นผู้สมัครส.ส. หรือ “ไพรมารีโหวต” โดยผู้สมัครเขตเลือกตั้ง ให้สาขา หรือผู้แทนพรรคประจำจังหวัดคัดเลือกภายใน เขตแล้วส่งรายชื่อให้กรรมการสรรหาของพรรคเลือก ส่วนผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ให้กรรมการสรรหาของพรรคจัดทำบัญชีรายชื่อ แล้วให้สมาชิกพรรคลงคะแนนเลือก 15 รายชื่อ เรียงลำดับตามคะแนนที่ได้

[caption id="attachment_15444" align="aligncenter" width="503"] ศ.ดร.มีชัย ฤชุพันธ์ุ ศ.ดร.มีชัย ฤชุพันธ์ุ[/caption]

โดยก่อนการลงมติแทบไม่มีเสียงค้าน แต่ทันทีที่ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองผ่านวาระ 3 ก็มีเสียงทักท้วงทันทีว่า “เนื้อหาขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาจากกรธ.เอง นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ที่ชี้ว่าการระบุให้ใช้ระบบการเลือกตั้งขั้นต้นนั้น ไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด และกังวลว่าพรรคการเมืองจะมีความพร้อมหรือไม่ หากมีการท้วงติงชื่อที่คณะกรรมการบริหารเลือกจากรายชื่อขั้นต้นที่มาจากสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในแต่ละเขต จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ใช้เวลาเพียงใด เนื่องจากกรณียุบสภาต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน

ด้านแกนนำพรรคการ เมืองไม่ว่าประชาธิปัตย์ หรือเพื่อไทยต่างคัดค้านระบบไพรมารีโหวตเช่นกัน โดยชี้ว่าจะทำให้ระบบพรรคอ่อนแอ เกิดความขัดแย้งระดับพื้นที่ และพรรคเล็กเกิดยาก ต้องมีกลไกสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เพิ่มภาระงานธุรการให้พรรค ทำให้อิทธิพลท้องถิ่นหรือกลุ่มตระกูลครอบงำเขตเลือกตั้งได้รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า จะทำให้เกิดความล่าช้าในการเลือกตั้ง เข้าทางใครหรือไม่

ขณะที่ก็มีเสียงสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาทิ นายทวี สุรฤทธิกุล กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ระบบไพรมารีโหวตจะช่วยให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางพรรคอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของแกนนำพรรคไม่กี่คน

ทั้งนี้ กรธ.นัดหารือกับกกต.เพื่อหาข้อสรุปประเด็นดังกล่าวในวันพุธที่ 21 มิถุนายนนี้ ก่อนจะตัดสินใจอีกครั้งว่า จะยื่นคัดค้านถึงประธานสนช.เพื่อให้ตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่

[caption id="attachment_165970" align="aligncenter" width="503"] ลากยาว‘ร่างกฎหมายลูก’ ยืดโรดแมปเลือกตั้งตุลาฯ61 ลากยาว‘ร่างกฎหมายลูก’ ยืดโรดแมปเลือกตั้งตุลาฯ61[/caption]

++กกต.จ่อค้าน2ประเด็น
ด้านกกต.ซึ่งแสดงท่าทีคัดค้านร่างกฎหมายลูกกกต.ฉบับใหม่ ได้มอบที่ปรึกษากฎหมาย ไปตรวจสอบร่างพ.ร.ป.กกต. เบื้องต้นพบ 2 ประเด็นที่กกต.มี มติแล้วว่า จะยื่นคัดค้านเพราะเห็น ว่าขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ คือ

1.อำนาจการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ตาม ม.224 วรรคหนึ่ง ของรธน.2560 ให้อำนาจกกต.ว่าจะดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่น หรือมอบให้หน่วยงานอื่นจัด โดยกกต.เป็นผู้กำกับดูแล แต่ในร่างพ.ร.ป.กกต.บัญญัติใน ม.27 วรรคแรกว่า ให้กกต.มีอำนาจหน้าที่เฉพาะการกำกับควบคุมการเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่น โดยมอบหน้าที่การจัดการเลือกตั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐ ถือว่าไม่ตรงเจตนารมณ์ของรธน.

2.รธน.มาตรา 224 วรรคสาม ให้อำนาจกกต.แต่ละคนสามารถสั่งระงับและสั่งเลือกตั้งใหม่ในหน่วยหรือเขตที่เห็นว่ามีปัญหาไม่สุจริตเที่ยงธรรมได้ แต่ร่างพ.ร.ป.ที่ผ่านสนช.มาตรา 26(3) กลับให้อำนาจเพียงชะลอการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเท่านั้น โดยต้องนำมติเข้ากกต.อีกครั้ง และให้กกต.มีมติกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้การประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.ล่าช้า อาจกระทบถึงการประกาศผลเลือกตั้งให้ครบ 95% เพื่อเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกและการเลือกนายกฯ ได้

++ยก10ข้อไม่ควรเซตซีโร่กสม.
ด้านร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เป็นอีกฉบับที่คงยื้อกันสุดซอย โดยกรธ.มีข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า จะเซตซีโร่กรรมการกสม.เดิม เพื่อให้สรรหาใหม่ทั้งชุด โดยจะส่งร่างพ.ร.ป.กสม. เป็นกฎหมายลูกฉบับที่ 5 ให้สนช.ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติ

[caption id="attachment_157211" align="aligncenter" width="503"] วัส ติงสมิตรประธาน กสม. วัส ติงสมิตรประธาน กสม.[/caption]

นายวัส ติงสมิตร ประธานกสม. ซึ่งคัดค้านการเซตซีโร่กสม. ได้ทำข้อสังเกต 10 ประเด็นโต้แย้งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกสม. ไล่ตั้งแต่ เหตุผลประกอบร่างพ.ร.ป.ฯ ที่ระบุกสม.ชุดปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักการสากลที่กระบวนการได้มาต้องมาจากหลากหลายภาคส่วนนั้น เป็นประเด็นอ่อนไหวไม่เหมาะสมที่จะนำมาเป็นเหตุผลประกอบ เพราะกสม.ชุดปัจจุบันมาตามรธน. 2550 ที่บัญญัติให้ต้องได้จากอย่างหลากหลาย ขณะที่หลักการปารีสเองมิได้กำหนดถึงกระบวนการได้มาซึ่งกสม. จึงเกินเลยจากหลักการปารีส ไม่ยืดหยุ่น และอาจสร้างปัญหาในอนาคต

เช่นเดียวกัน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะวางระเบียบปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญ และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่กรธ.เสนอเข้าสนช.แล้วนั้น ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า เมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือกรธ.เอง จะไม่หยิบยกประเด็น “ไม่เป็นไป ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาร้องค้านอีก

**เห็นแย้งตั้งกมธ.ร่วมยืดเวลา
ตามมาตรา 267 บทเฉพาะกาลในรธน.2560 ระบุให้กรธ.จัดทำร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับให้แล้วเสร็จใน 240 วัน ดังนั้นอย่างช้าที่สุดร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับที่จะทำให้จัดการเลือกตั้งได้ ต้องส่งเข้าสนช.ภายใน 8 เดือน หรือ 6 ธันวาคม 2560 จากนั้นต้องจัดการเลือกตั้งใน 150 วันหรือ 50 เดือน ตามสูตร 8+5 หรือจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2561

อย่างไรก็ตาม ต้องเผื่อเวลา 3-5 เดือน สำหรับขั้นตอนการพิจารณากฎหมายลูกด้วย หากจะใช้ขั้นตอนของกลไกต่าง ๆ ดึงเวลาเต็มเหยียด ที่เวลานี้แนวโน้มชัดขึ้นเป็นลำดับแล้วว่า น่าจะลากยาวจนสุดกรอบเวลาเท่าที่ทำได้

โดยหากร่างกฎหมายลูกผ่านวาระ 3 สนช. ต้องส่งร่างนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และกรธ.พิจารณา หากเห็นว่าเนื้อหาร่างกฎหมายนั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งประธานสนช.ภายใน 10 วัน

ให้ประธานสนช.ตั้งกมธ.ร่วม มีศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเป็นประธาน และกรรมการ 2 ฝ่าย คือ สนช.และกรธ.ฝ่ายละ 5 คน รวมเป็นกรรมการ 11 คน พิจารณาภายใน 15 วัน เพื่อให้สนช.ลงมติยืนยันอีกครั้ง
ถ้าสนช.มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนสนช.ที่มี 250 คน หรือ 167 คนขึ้นไป ให้ร่างพ.ร.ป. นั้นตกไป ถ้าเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ให้ถือว่าสนช.เห็นชอบตามร่างที่กมธ.วิสามัญเสนอ โดยใช้เวลาอีกราว 1 เดือน
ถ้าสนช.ยืนยันร่างกฎหมายลูกก็จะผ่านไปบังคับใช้ ต้องมีขั้นตอนทางธุรการ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ที่ต้องใช้เวลาอีกระยะ ซึ่งปกติจะอยู่ในกรอบเวลา 90-120 วัน รวมแล้วโรดแมปเลือกตั้งอยู่ที่ปลายปี 2561 แต่ถ้าไม่ผ่านกลายเป็นอีกคำถามใหญ่ ว่าจะให้ใครทำอะไรต่อ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดแนวทางไว้ เป็นอีกหลุมขวากบนเส้นทางสู่การเลือกตั้งไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560