มติสนช.217เสียงรับร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน

15 มิ.ย. 2560 | 06:34 น.
สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 217 เสียง ด้านสมาชิก สนช.ระบุ ตั้งคุณสมบัติผุ้^ตรวจการแผ่นดินสูงอาจหาผู้สมัครรับการสรรหายาก

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 217 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 19 คน โดยมีสัดส่วนมาจาก กรธ. 2 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 คน และ สนช. 14 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 ระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 45 วัน

[caption id="attachment_163218" align="aligncenter" width="353"] นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์[/caption]

โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ได้ปรับแก้ สาระสำคัญของร่างที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอมาใน 3 ประเด็น คือ 1.การเปลี่ยนบทบาทของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการที่เคยเป็นผู้ตรวจจับและรายงานความผิด มาเป็นการปรึกษาหารือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติให้ถูกต้องทั้งในแง่ของตัวบทกฎหมาย ความเที่ยง ธรรมและความไม่เหลื่อมล้ำ 2.เจ้าหน้าที่รัฐมักไม่ปฏิบัติตามการเสนอแนะของผู้ตรวจแผ่นดิน ทำให้ การแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อประชาชนไม่สามารถเดินหน้าได้ กรธ.จึงพยายามหาทางปรองดองคือ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพบว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายให้ดำเนินการปรึกษาหารือกับหน่วยงานและแนะนำให้ปฏิบัติ แต่หากหากเพิกเฉยจึงมีบทลงโทษ และ3.หลีกเลี่ยงการตั้งคณะบุคคลไปทำงานแทนผู้ตรวจการแผ่นดินให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อก่อให้เกิดความไว้วางใจและ ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง แต่หากจำเป็นก็สามารถตั้งคณะบุคคลทำงานแทนได้

ด้านสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่มุ่งเน้นอภิปรายในประเด็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ค่อนข้างสูง คล้ายกับจะเป็นการเซ็ตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งไม่เป็นธรรม และอาจหาผู้สมัครเข้ารับการสรรหาได้ยาก ขณะเดียวกันมองว่า ร่างดังกล่าวถือเป็นแนวทางการพัฒนาการทำหน้าที่ของทุกหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้มากขึ้น

นายมีชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเขียนบทเฉพาะกาลมีข้อเสนอ 3 แนวทาง คือ เซ็ตซีโร่ใหม่ทั้งหมด รีเซตบุคคลที่มีคุณสมบัติครบ และให้อยู่ต่อทั้งหมด โดย 2 แนวทางแรก กรธ. มั่นใจว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนแนวทางที่ 3 อาจส่อขัดรัฐธรรมนูญ แต่ กรธ. ไม่มีหน้าที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หาก สนช. เห็นด้วยกับแนวทางที่ 3 ก็สามารถยื่นศาลได้ ทั้งนี้ ผลการวินิจฉัยจะได้เป็นบรรทัดฐานให้ กรธ. พิจารณากฎหมายลูกฉบับอื่นด้วย พร้อมยืนยัน กรธ.เคารพความเห็นของ กมธ.วิสามัญฯ และ สนช.