ไทย-จีนถกรับมือตลาดงานแห่งอนาคต

15 มิ.ย. 2560 | 03:38 น.
ไทย - จีน กระชับความร่วมมือภายใต้กรอบ ILO รักษาผลประโยชน์แรงงานในเอเชียแปซิฟิก

รมว.แรงงาน เข้าพบ Mr.You Jun ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของจีน หารือแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับตลาดงานแห่งอนาคต (Future of Work) พร้อมนำเสนอกรอบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย 4 ขั้นตอน ในระยะ 20 ปี

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าพบ Mr.You Jun ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของจีน ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยได้หารือในประเด็นการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ซึ่งมีประเทศผู้สมัครเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 2 ประเทศ คือ จีน และ สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งจากการที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เข้าร่วมการแข่งขัน CISC 2017 พบว่า มีความพร้อมในด้านเครื่องมือ เครื่องจักร โดยมีบริษัททั้งระดับนานาชาติ และบริษัทจีนร่วมเป็นสปอนเซอร์จำนวนมากและพร้อมสนับสนุนการจัดการแข่งขัน World Skills ในครั้งดังกล่าวด้วย

Laber-2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้หารือกับ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ประกันสังคมของจีนถึงแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจีนเพื่อรองรับ (Future of Work) โดยกล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักถึงสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงในบริบทปัจจุบัน และได้วางนโยบายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับตลาดงานแห่งอนาคต โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการพัฒนาคนไทย เยาวชนไทย ให้มีความรู้ทักษะ ความสามารถให้เท่าทันต่อความเป็นไปของโลกปัจจุบัน ซึ่งในระยะ 20 ปีข้างหน้า กระทรวงแรงงานได้วางกรอบแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยออกเป็น 4 ขั้น คือ 1) Productive Manpower เป็นการสร้างรากฐานด้านแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากล 2) Innovative Workforce ยุคของทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพรองรับต่อ Thailand 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ 3) Creative Workforce ยุคของทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างงานที่มีคุณค่า และ 4) Brain Power ยุคของการสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา เพิ่มจำนวนทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะ STEM มุ่งสู่การทำงานที่มูลค่าสูง (High Value)

สำหรับการหารือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลไทยจะได้แสดงไมตรีจิตแก่รัฐบาลจีน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันท์มิตรไทย - จีน ประกอบกับความร่วมมือกับไทยในกรอบองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และด้านแรงงานอื่นๆ รวมทั้งความพร้อมของทั้งสองประเทศที่จะทำงานฉันท์มิตรในฐานะสมาชิกประจำของคณะประศาสน์การ จะทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เป็นอย่างดี