คนร.ไฟเขียวแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการแร่ทองคำ

12 มิ.ย. 2560 | 11:40 น.
คนร.เห็นชอบ 3 แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการแร่ทองคำ และกรอบนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ 6 ด้าน

วันนี้ (12 มิถุนายน 2560) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ครั้งที่ 1/2560 โดยที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในฐานะที่ประเทศไทยมีกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าประสงค์ให้ภาครัฐและท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ ตอบแทนจากประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่เหมาะสม ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำเพิ่มขึ้น และปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำลดลง ซึ่งผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำมีการประกอบกิจการที่มีมาตรฐานสากล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน โดยสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

[caption id="attachment_161409" align="aligncenter" width="503"]  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ[/caption]

สำหรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1. ยุทธศาสตร์การยกระดับการจัดการ บริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนแก่ภาครัฐและท้องถิ่น การจัดเก็บและจัดสรรผลประโยชน์ที่เหมาะสมและเป็นธรรม

2. ยุทธศาสตร์การยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ด้านสังคมและชุมชน โดยยกระดับมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการและการพัฒนาอาชีพ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน และ3.ยุทธศาสตร์การยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีมาตรฐานการป้องกัน และแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมไปถึงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ชัดเจน เช่นกองทุนหลักประกันและการทำประกันภัย ตลอดจนการจัดทำ Baseline Data และ Buffer Zone เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อชุมชน

รวมทั้งมีกรอบนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ จำนวน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการแหล่งแร่ทองคำ ด้านผลประโยชน์ตอบแทนแก่ภาครัฐและท้องถิ่น ด้านความปลอดภัย การป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูพื้นที่ ด้านการกำกับดูแลการประกอบการ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม